มหิดล+มั่นพัฒนา ปั้น ป.เอก หลักสูตรภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน

การมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องจะนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสังคมส่วนรวม ที่จะต้องเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุผลดังกล่าว มหาวิทยาลัยมหิดล โดยวิทยาลัยการจัดการ จึงร่วมกับ มูลนิธิมั่นพัฒนา เปิดตัวศูนย์วิจัยภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Center for Research on Sustainable Leadership) เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ศาสตร์ของพระราชา

ด้วยการชูแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเปิดหลักสูตรปริญญาเอกสาขาวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน (Ph.D. in Sustainable Leadership) หลักสูตรแรกของประเทศไทย และแห่งแรกของโลกเพื่อมุ่งหวังเป็นกลไกหลักในการสร้างบุคลากรนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ ในการวางรากฐานการบริหารองค์กรธุรกิจด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืน

“จีราวรรณ บุญเพิ่ม” กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา บอกว่า ปัจจุบันทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น ภายหลังองค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) เพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปเป็นเป้าหมายพัฒนาประเทศของตนให้ยั่งยืน ซึ่งแนวทางดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ประเทศไทยดำเนินการมาอย่างยาวนาน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หรือที่ทุกคนรู้จักดีในนามศาสตร์ของพระราชา ศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่พระองค์ท่านทรงใช้เพื่อแก้ไขพัฒนาให้ประชาชนในแต่ละภูมิสังคม สามารถดำรงชีพได้อย่างสมดุลในมิติด้านต่าง ๆ

“อย่างไรก็ตาม ด้วยความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ ทำให้มีความรู้มากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งที่ได้รับการถอดบทเรียนและยังไม่ได้รับการถอดบทเรียน ฉะนั้น แนวทางที่จะทำให้เกิดเป็นต้นแบบที่ถูกต้อง สามารถนำไปเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อไป จำเป็นต้องอาศัยความตั้งใจจริง ความเพียร และการสนับสนุนร่วมมือกันจากหลายฝ่าย”

“รศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร” รองคณบดีงานวิจัย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความคิดในการก่อตั้งศูนย์วิจัยภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า เริ่มจากผลของการกระทำของมนุษย์ในด้านการขยายเศรษฐกิจอย่างขาดความสมดุล จึงทำให้หลาย ๆ ประเทศเริ่มตระหนักถึงหลักความยั่งยืน เพื่อเข้ามาช่วยสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์มีภารกิจ 3 อย่าง คือ แหล่งทุนวิจัยหลักสูตรปริญญาเอก และการสื่อสารงานวิจัย ซึ่งรวมถึงการทำเทรนนิ่งด้านความยั่งยืนด้วย

“ที่ผ่านมาองค์กรต่าง ๆ บริหารจัดการตามแนวคิดความยั่งยืนสากล เช่น Triple Bottom Line แต่แนวคิดดังกล่าวยังไม่เน้นเรื่องจริยธรรม คุณงามความดี ซึ่งเป็นคุณค่าของไทยที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมากพอดังนั้น หลักสูตรวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืนจึงเป็นเหมือนโซลูชั่น เพราะคนมักเพ่งเล็งสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเรื่องภาวะโลกร้อน หรือน้ำเสียมาจากภาคธุรกิจแต่การที่เราจะเข้าไปเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจนั้นยากมาก เราจึงต้องมีคอนเซ็ปต์ภาวะผู้นำเศรษฐกิจพอเพียง (SEP Leadership) เพื่อโน้มน้าวนักธุรกิจให้ใช้ทางเลือกที่สร้างสมดุลในการทำธุรกิจ”

ตัวหลักสูตรจะครอบคลุมองค์ความรู้ในหลากหลายมิติ ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการของผู้นำ (Management Areas of Leadership) โดยการมุ่งเน้นศึกษาวิจัย และสร้างความเข้าใจ จุดเด่นของหลักสูตรคือจะสร้างค่านิยมในการสร้างภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน ที่มีคุณสมบัติสำคัญ 4 ด้าน เพื่อนำพาประเทศชาติ และองค์กรไปสู่ความมั่นคง และยั่งยืน คือ

หนึ่ง มีคุณธรรม (virtue) คือ ภาวะผู้นำที่นำเอาความดีงาม เช่น ความซื่อสัตย์ อดทน ขยันหมั่นเพียร การแบ่งปัน ทั้งหมดเป็นพื้นฐานในการบริหารงาน

สอง มีความคิดแบบพอประมาณ (sufficiency mindset) คือ ไม่มากไป ไม่น้อยไป

สาม มีผลลัพธ์ของการจัดการที่สมดุล (sufficiency balanced outcomes) คือ มีการบริหารจัดการให้สมดุล คือ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ

สี่ มีภูมิคุ้มกัน (self-immunity) มีการสร้างระบบภูมิคุ้มกันในองค์กร เมื่อเจอวิกฤตจะผ่านไปได้อย่างประสบความสำเร็จ หรืออาจไม่ได้รับผลจากวิกฤตนั้นเลย ขณะเดียวกัน หลักสูตรนี้ยังครอบคลุมถึงการส่งเสริมการบริหารจัดการองค์กร ภายใต้แนวคิดธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างยั่งยืนด้วย

นอกจากนั้นยังมีการขยายองค์ความรู้ของศูนย์ไปสู่การเรียนการสอนระดับปริญญาโท และตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการปรับหลักสูตร ป.โท สำหรับเรื่องนี้

“รศ.ดร.สุขสรรค์” เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ตอนนี้เปิดรับสมัครนักศึกษาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา และมีกำหนดเปิดภาคเรียนเดือนพฤษภาคม 2561 ค่าเล่าเรียนประมาณ 1 ล้านบาท เรามีการให้ทุนการศึกษา ซึ่งเป็นทุนให้เปล่าจากมูลนิธิมั่นพัฒนา และโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกด้วย

“กลุ่มเป้าหมายของหลักสูตร เรามองไปที่พนักงานบริษัทที่ทำงานในแผนกความยั่งยืน, คนในบริษัทที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการ เพราะคนพวกนี้ต้องมีความสามารถเข้าไปประเมินความยั่งยืนตามบริษัทต่าง ๆ, ผู้บริหารภาครัฐ และนักวิชาการ อาจารย์ เพราะสมัยนี้ศาสตร์ทุกวิชาต้องบูรณาการองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนไปด้วย ซึ่งเรามีนักศึกษาที่สมัครแล้วประมาณ 10 คน มีอาจารย์สอนประจำ 10 คน มีอาจารย์พิเศษจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมาร่วมสอนตลอด เพื่อทำให้ศูนย์มีชีวิตชีวา มีความรู้หลากหลาย และเป็นสากล”

หนึ่งในนั้นคือ “ศ.ดร.ฟิลิป ฮาลิงเจอร์”นักวิชาการทางด้านภาวะผู้นำโดยเฉพาะ ทั้งยังเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่างมากในภาคการศึกษาของโลก โดยงานวิจัยของท่านถูกนำไปศึกษาต่อมากกว่า 500 โครงการวิจัย กว่า 35 ประเทศ ในขณะนี้มีผลงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงสูงสุดในสายสังคมศาสตร์ของประเทศไทย

ที่สำคัญ ยังเป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอนแบบเอาปัญหาจริงเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ (problem-based learning) ในสายงานการจัดการของโลก พร้อม ๆกับเป็นที่ปรึกษาให้กับกระทรวงศึกษาธิการของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกอีกด้วย

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว มูลนิธิมั่นพัฒนาจึงสนับสนุนให้ “ศ.ดร.ฟิลิป ฮาลิงเจอร์”มาดำรงตำแหน่งศาสตรเมธาจารย์มั่นพัฒนา ประจำศูนย์วิจัยภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีหน้าที่ในการดูแลและให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน

“ศ.ดร.ฟิลิป ฮาลิงเจอร์” ศาสตรเมธาจารย์มั่นพัฒนา (TSDF Chair Professor of Leadership) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่าองค์ความรู้ไม่เพียงจำกัดแค่ด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงมิติต่าง ๆ ทั้งในด้านการบริหารองค์กรธุรกิจ การบริหารจัดการบ้านเมือง และการบริหารจัดการชุมชน จึงเชื่อมั่นได้ว่าผู้ที่เข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้จะมีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน อันหมายรวมถึงการส่งต่อวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นไปสู่คนรุ่นใหม่ ไม่เพียงเท่านั้น ยังขยายผลเนื้อหาของหลักสูตรนี้ไปสู่สากล อันเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นคง และยั่งยืนให้สังคมโลกอีกด้วย

“จากการศึกษาวิจัยด้านภาวะผู้นำอันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนพบว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของไทยมีส่วนคล้ายคลึงกับการสร้างภาวะผู้นำในระดับสากล แม้ว่าหลักการ หรือคำนิยามในบางส่วน จะไม่ตรงกันทีเดียวแต่ในแง่ของแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างยั่งยืน ถือว่ามีเป้าประสงค์ และจุดมุ่งหมายในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศึกษารายละเอียดในเชิงลึก ยิ่งทำให้มั่นใจว่าสามารถประยุกต์ศาสตร์ทั้งสองพัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตรการศึกษา ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นระบบ และรูปธรรม”

นับว่าเป็นการพัฒนารูปแบบการศึกษาที่เชื่อมโยงกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หรือ “ศาสตร์ของพระราชา” ของพระองค์ในการนำไปใช้อย่างยั่งยืนต่อไป