“ม.รังสิต” ชูสตาร์ตอัพ ผลิตบัณฑิตมุ่งผู้ประกอบการ

ยุคที่เด็กรุ่นใหม่อยากมีธุรกิจของตนเอง โดยมีความพร้อมต่าง ๆ รองรับ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งความรู้จากตำรา และในโลกออนไลน์ รวมไปถึงพื้นที่สำหรับเสาะแสวงหาความรู้เพื่อให้พวกเขาทดลองทำธุรกิจ แต่กระนั้น ก็ใช่ว่าการทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่จะประสบความสำเร็จทุกคน

เพราะบางคนอาจไม่มีประสบการณ์

หรือบางคนไม่เคยลงสนามจริง

ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยเข้ามามีบทบาทในการสร้างกองทัพผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดี ซึ่งเหมือนกับมหาวิทยาลัยรังสิตที่เริ่มให้ความสำคัญกับกลุ่มสตาร์ตอัพ

โดยเรื่องนี้ “ผศ.ดร.เชฏฐเนติ ศรีสอ้าน” คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยรังสิตมีความพยายามที่จะสร้างโมเดลสตาร์ตอัพในระดับมหาวิทยาลัยมาตลอด โดยมองเห็นว่านักศึกษามีจุดแข็งในด้านของเวลาที่เหลือล้น และไอเดียที่มีอิสระ แต่ขณะเดียวกันก็มีจุดอ่อนในเรื่องของความไม่ต่อเนื่องของโครงการบ้าง เนื่องจากมีเวทีเยอะนักศึกษาบางกลุ่มจึงเน้นคิดโปรเจ็กต์เพื่อล่ารางวัล แต่ไม่นำไปสร้างเป็นธุรกิจจริง ๆ

ผลเช่นนี้ จึงทำให้วิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยรังสิต มีการนำร่องรายวิชา innovative startup เพื่อให้นักศึกษาเริ่มเรียนรู้การเป็นสตาร์ตอัพ/ผู้ประกอบการตั้งแต่ปี 1 ด้วยการนำประสบการณ์จริงไปปรับใช้ หรือ pain point เพื่อสร้างธุรกิจ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดอิงตามคณะที่ตนเองเรียน และสามารถใช้เป็นโปรเจ็กต์จบได้อีกด้วย

“เราจะเห็นว่าสตาร์ตอัพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากการความต้องการแก้ปัญหา และเราก็เห็นปัญหาของนักศึกษาของเราว่าขาดในเรื่องของการตลาด เด็กเก่ง แต่ขายของไม่เป็นไม่สามารถสื่อสารไปยังกลุ่มผู้ซื้อได้ งานเหล่านั้นจึงขึ้นหิ้ง เราจึงต้องการสร้างดีเอ็นเอของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยจะให้เริ่มจากการเรียนรู้ปัญหาของผู้ประกอบการจริง ลงไปคลุกคลี แล้วหาทางแก้”

“ดังนั้น เป้าหมายของสตาร์ตอัพจึงมี 2 แนวทาง คือ 1.มีคนมาซื้อ คือสามารถไป pitch งานบนเวทีต่าง ๆ ทั้งใน และต่างประเทศ แล้วมีผู้สนใจลงทุน และ 2.ตั้งบริษัทของตนเอง ด้วยการเรียนรู้และต่อยอด จนกลายเป็นเอสเอ็มอีที่สร้างเศรษฐกิจของประเทศ”

“ผศ.ดร.เชฏฐเนติ” กล่าวเพิ่มเติมว่ามหาวิทยาลัยรังสิตพยายามสร้างสตาร์ตอัพที่มาจากคณะที่หลากหลาย แต่ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยต้องสร้างจุดแข็ง ผ่านกลุ่มที่ถนัดและมีศักยภาพพร้อมที่สุด และตรงกับความต้องการของประเทศมากที่สุด

“เพราะเรามีความถนัดในกลุ่ม HealthTech มากที่สุด เนื่องจากเรามีพื้นฐานและองค์ความรู้เรื่องการแพทย์ เรามีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก และประเทศไทยเองก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อย สินค้าและบริการเพื่อคนที่กำลังจะเป็นผู้สูงอายุ และเป็นผู้สูงอายุไปแล้ว”

“ปีที่ผ่านมาเราส่งทีมนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันในโครงการ StartUp Thailand จำนวน 110 ทีม โดยในนี้ 22% เป็นทีมอยู่ในกลุ่ม HealthTech และมีทีมที่มีผลงานโดดเด่นจนได้รับเงินสนับสนุนถึง 32 ทีม ตัวอย่างเช่น ทีม Glucotouch เป็นเครื่องตรวจระดับน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเบาหวานโดยใช้นิ้วสัมผัส โดยไม่ต้องเจาะเลือดทีม M-Care สตาร์ตอัพที่จัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเพื่อให้เกิดความหลากหลาย และสร้างความร่วมมือระหว่างคณะ ทางมหาวิทยาลัยรังสิตมีแผนสร้างโคเวิร์กกิ้งสเปซ เพื่อเป็นพื้นที่ให้แก่นักศึกษาคณะต่าง ๆ เข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกัน เพื่อให้พวกเขามีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนอาจเกิดเป็นธุรกิจใหม่ ๆ โดยมีมหาวิทยาลัยรับหน้าที่เป็น “โค้ช”


จึงเชื่อแน่ว่าน่าจะทำให้เกิดสังคมสตาร์ตอัพภายในมหาวิทยาลัยอย่างน่าสนใจ