ม.รังสิต มุ่งผลิตวิศวกรนัก Startup รองรับสังคมผู้สูงอายุในไทย

คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต มุ่งพัฒนางานวิจัยและผลิตบัณฑิตที่เป็นนัก Startup เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลักดันผู้ประกอบการใหม่รองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย

“รองศาสตราจารย์ นันทชัย ทองแป้น” คณบดีคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า จากข้อมูลที่สำนักงานสถิติแห่งชาติสรุปไว้ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุตั้งแต่ พ.ศ. 2548 โดยมีประชากรผู้สูงอายุ ร้อยละ 10.4 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในช่วง พ.ศ. 2567-2568 นั้น สังคมผู้สูงอายุจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

“คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต จึงได้เตรียมความพร้อมให้กับบัณฑิตที่จะต้องออกไปเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ประกอบกับวิสัยทัศน์ของคณะฯ ในการก้าวสู่คณะแห่งนวัตกรรมและผู้ประกอบการทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ จึงได้กำหนดเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักในการวิจัย โดยการที่จะบูรณาการศักยภาพในทุกด้าน เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุขึ้นมา รวมทั้งเน้นการผลิตบัณฑิตที่เป็นนัก Startup เพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่รองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย เพื่อใช้ในการรองรับปัญหาดังกล่าว

โดยการผลักดันให้บุคลากรและห้องวิจัยได้มาตรฐาน ได้แก่ ห้องวิจัยทางด้านชีวฟิสิกส์ ไบโอเซ็นเซอร์และวัสดุชีวการแพทย์ (ThEP Research Lab) เป็นห้องวิจัยที่ได้รับการรับรองจากสำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษา และวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.) ให้เป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ (ThEP) เพื่อสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานในระดับสากล ห้องวิจัยทางด้านการประมวลผลสัญญาณและภาพทางการแพทย์ (SIP Research Lab) ห้องวิจัยหุ่นยนต์ทางการแพทย์และปัญญาประดิษฐ์ (ROM & AI Research Lab) ห้องวิจัยเครื่องมือแพทย์และวิศวกรรมคลินิก (BMI&CE Research Lab) และห้องวิจัยทางด้านสารสนเทศศาสตร์ชีวเวชและสาธารณสุข (BPHI Research Lab) ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความร่วมมือกันเป็นเครือข่าย มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมและผลิตบัณฑิตให้เป็นนัก Startup ในการร่วมขับเคลื่อนผู้ประกอบการใหม่เพื่อผู้สูงอายุของประเทศไทย ทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้ กลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือ และผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยทิศทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุได้เน้นในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการวินิจฉัยและการฟื้นฟูในด้านการมองเห็น

2.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุและผู้ดูแล

3.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการอำนวยความสะดวกอุปกรณ์เพื่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้กับผู้สูงอายุ

4.หุ่นยนต์เพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้สูงอายุ

5.การบูรณาการระบบการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เข้ากับไอโอทีเทคโนโลยี (Internet of Things) ในการที่จะพัฒนานวัตกรรมด้านการดูแลรักษาสุขภาพแบบดิจิตอล (Digital Healthcare) ประเภทอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Device) ที่มีการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น

“ด้วยความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากร และระบบโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้านของคณะฯ รวมทั้งเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและนอก และการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยรังสิต เรามีความเชื่อมั่นว่านับจากนี้ไปจะมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการวินิจฉัย บำบัดฟื้นฟูผู้สูงอายุ ที่เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาของคณาจารย์และนักศึกษา จากคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ออกมารับใช้สังคมเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยและนโยบายประเทศไทย 4.0 อย่างแน่นอน”