“วิจิตร ศรีสอ้าน” อดีต รมว.ศึกษาธิการ ถึงแก่อนิจกรรมวัย 89 ปี

ศาสตราจารย์ วิจิตร ศรีสอ้าน
ศาสตราจารย์ วิจิตร ศรีสอ้าน

สิ้น “วิจิตร ศรีสอ้าน” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และบิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย ได้ถึงแก่อนิจกรรมสิริอายุ 89 ปี ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว

วันที่ 30 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์ วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และบิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย ถึงแก่อนิจกรรมด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 30 ก.ย. 2566

ดร.ธีระชัย เชมนะสิริ นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Teerachai Chemnasiri” ระบุว่า

“ขอกราบคารวะดวงวิญญาณของท่าน ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตนักการศึกษาผู้มีแต่เมตตาธรรม

ขอให้ท่านจงสู่สวรรค์ชั้นสูงสุดด้วยคุณงามความดีที่ท่านได้กระทำเทอญ”

ขณะเดียวกัน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีกิตติคุณผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต อดีตรองประธาน​รัฐสภา​และประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ภาพและข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว “Arthit Ourairat” ระบุว่า

ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งในการจากไปของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เพื่อนรักรุ่นเดียวกัน แม้ ดร.วิจิตร อยู่อักษรศาสตร์ ผมอยู่รัฐศาสตร์

ดร.วิจิตร สนับสนุนมหาวิทยาลัยรังสิตมาโดยตลอด เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยรังสิตตั้งแต่ต้นจนไปเป็น รมว.ศึกษาธิการ ขอดวงวิญญาณท่านจงไปสู่สุคติ ณ สัมปรายภพ”

ประวัติ “วิจิตร ศรีสอ้าน”

สำหรับประวัติของ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ ดังนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อธิการบดีคนแรกและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลด้านการบริหารการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทย

ชีวิตในวัยเยาว์ แบบอย่างความเพียร

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ที่ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา การศึกษาในวัยเด็ก เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาช้ากว่าเด็กอื่น ๆ เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรงและบ้านอยู่ห่างไกลจากโรงเรียน จึงต้องเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน

โดยบิดาเป็นผู้สอนหนังสือให้ด้วยตนเอง ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดท่าสะอ้าน โรงเรียนประกอบราษฎร์บำรุง โรงเรียนประชาบาลวัดกลางบางปะกง และโรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน ตามลำดับ

ซึ่งจากการเรียนหนังสือที่บ้านทำให้รู้หนังสือก้าวหน้ามากกว่าเพื่อนร่วมชั้น จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าห้องและผู้ช่วยครูมาตลอด เป็นส่วนที่หล่อหลอมรากฐานแห่งความเป็นผู้นำและความเป็นครู

สำหรับชีวิตในวัยเด็กต้องต่อสู้ดิ้นรนกับความลำบาก เนื่องจากบิดาเสียชีวิตตั้งแต่เรียนชั้นประถมปีที่ 3 ทำให้ได้รับหน้าที่เสาหลักของครอบครัว ดูแลงานที่บ้าน ดูแลน้อง และดูแลร้านขายของชำ พร้อมกับการเรียนหนังสือ เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน ได้ศึกษาต่อสายศิลปะที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เพราะชอบวิชาภาษาไทย

ในระยะแรก ท่านมีปัญหาวิชาภาษาอังกฤษ สอบได้คะแนนอันดับสุดท้ายในชั้นเรียน แต่ด้วยความพากเพียร จึงขวนขวายเรียนพิเศษจนสามารถสอบวิชาอังกฤษได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง และยังหารายได้พิเศษระหว่างเรียนด้วยการรับสอนพิเศษตามบ้าน ทำให้ท่านสั่งสมความสามารถในการสอนหนังสือตั้งแต่ยังวัยเยาว์

ซึ่งจากอุปสรรคในวัยเด็กนั้นหล่อหลอมให้ท่านเป็นคนแข็งแกร่ง และเป็นนักแก้ปัญหาที่ดี สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้รวดเร็ว และตัดสินใจแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

หลังจากการศึกษาจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ได้เข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาเอกการสอนภาษาอังกฤษและภาษาไทย โดยทุนของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะประกอบอาชีพครู และสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ดังนี้

  • พ.ศ. 2502 ปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2504 ปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2507 ปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัย Minnesota สหรัฐอเมริกา ได้รับทุนจากมูลนิธิฟุลไบรท์
  • พ.ศ. 2510 ปริญญาเอก สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัย Minnesota สหรัฐอเมริกา ได้รับทุนของมหาวิทยาลัย Minnesota
  • พ.ศ. 2519-2520 หลักสูตร วปอ.รุ่นที่ 19 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

เส้นทางสู่นักบริหารการศึกษา

เมื่อปี พ.ศ. 2504 ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าเลขานุการ ดูแลงานธุรการและงานบริหารของคณะ ด้วยความรู้ความสามารถในการบริหารและการแก้ปัญหาทางการศึกษา จึงได้รับดำรงตำแหน่งบริหารที่สำคัญ ๆ อาทิ

อาจารย์ใหญ่ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เลขานุการบริหารมหาวิทยาลัย เลขาธิการมหาวิทยาลัย เลขานุการรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย รองอธิการบดี รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ได้แก่ สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2549-2551

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ได้ปฏิบัติงานด้านการบริหารการศึกษาในหน้าที่สำคัญ ๆ อาทิ การแก้ปัญหาทางการบริหาร ความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัย ด้วยความรู้ความสามารถและคุณธรรมของผู้นำ จึงได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ได้แก่ รองอธิการบดี อธิการบดีมหาวิทยาลัย รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย นายกสภามหาวิทยาลัย

เมื่อปี พ.ศ. 2514 ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นงานที่ต้องประสานขอความร่วมมือจากอาจารย์อาวุโส ได้ยึดถือหลักการทำงานด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน มีการทำงานเป็นทีม ทำให้ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายจนสามารถดำเนินงานบริหารมหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวก

เมื่อปี พ.ศ. 2517 ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ ถือเป็นผู้บริหารระดับสูงในขณะอายุยังน้อยในวัยเพียง 40 ปี และได้รับมอบหมายให้รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง จนได้รับขนานนามในหนังสือ Who is Who in Thailand ว่า “นักดับปัญหาทางการศึกษา” (Educational Troubleshooter)

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ได้แก่

  • พ.ศ. 2520 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • พ.ศ. 2521 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • พ.ศ. 2521-2530 อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • พ.ศ. 2535-2543 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • พ.ศ. 2536-2541 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • พ.ศ. 2549-2550 อธิการบดีสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์

บิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย

ปี พ.ศ. 2552 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ประกาศเกียรติคุณให้ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็น “บิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย” ถือเป็นบุคคลแรกที่นำระบบสหกิจศึกษาเข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ริเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2536

สหกิจศึกษา (Cooperative Education) เป็นระบบการศึกษาที่จัดให้มีการเรียนการสอนในสถานศึกษาสลับกับการไปหาประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการ ด้วยความร่วมมือจากสถานประกอบการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นระบบการศึกษาที่ผสมผสานการเรียนกับการปฏิบัติงาน (Work Integrated Learning)