“อักษร” ผนึก “Code.org” ร่วมอัพเกรดวิชา “วิทยาการคำนวณ”

กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดวิชาใหม่ที่มีชื่อว่า “วิทยาการคำนวณ” หรือ “computing science” ซึ่งจะบังคับใช้ในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2561 เริ่มสอนในระดับชั้น ป.1, ป.4, ม.1 และ ม.4 โดยวิชานี้เป็นร่างใหม่ของวิชาคอมพิวเตอร์ในกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี ก่อนถูกย้ายมาอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

สาระหลักของวิชานี้จะเน้น 3 ด้าน ได้แก่ วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science : CS) การแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information Communication Technology : ICT)รวบรวมข้อมูล การประมวลผล การประเมินผล การนำเสนอข้อมูลหรือสารสนเทศ เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริง และการรู้ดิจิทัล (Digital Literacy : DL)การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างปลอดภัย และการรู้เท่าทันสื่อ

กล่าวโดยย่อคือ วิชาวิทยาการคำนวณจะฝึกให้เด็กมีวิธีการคิดเชิงตรรกะ หรือเป็นระบบ ก่อนที่นำไปสู่การฝึกให้เกิดการลงมือทำ แล้วนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมกับการรู้เท่าทันเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม วิชานี้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ของวงการการศึกษาไทย อักษร เอ็ดดูเคชั่น จึงจับมือกับเว็บไซต์ระดับโลกอย่าง Code.org ที่มีชื่อเสียงในการออกแบบและสร้างหลักสูตร computer science สำหรับเด็กระดับประถมศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยอักษร เอ็ดดูเคชั่น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น international professionaldevelopment partner อย่างเป็นทางการจาก Code.org ซึ่งมีเพียง8 ประเทศเท่านั้นที่ได้รับการแต่งตั้งนี้ ได้แก่ ไทย, ญี่ปุ่น, อิสราเอล, มาเลเซีย, ชิลี, แคนาดา, เม็กซิโก และสเปน

“ตะวัน เทวอักษร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) สะท้อนภาพการศึกษาและการพัฒนาคนของไทยว่า เมื่อก่อนเน้นการขายแรงงานเป็นหลัก แต่ตอนนี้ขยับมาสู่การขายความคิด ซึ่งต้องใช้ทักษะอีกรูปแบบหนึ่ง และทักษะที่สำคัญคือด้าน computing science ซึ่งไม่ได้หมายความถึงงานด้านคอมพิวเตอร์แต่เป็นทุกอย่างที่เป็นการขายความคิด ซึ่งมาจากกระบวนการคิดที่ดี การแก้ปัญหา หรือหาโซลูชั่น

แล้วจะทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการคิดนี้กับคนไทย เพราะวิชานี้ยังไม่เคยมีการสอนในประเทศไทย และถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของเกือบทุกประเทศ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่บรรจุวิชานี้ไว้ในหลักสูตรระดับชาติแล้ว อย่างฟินแลนด์, เกาหลีใต้, อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

“เราอยากสร้างให้นักเรียนและครูมีความคิดแบบ computational thinking จึงดูหลักสูตรจากทั่วโลก ก็ได้มาเจอกับ Code.org ซึ่งเขามีผู้เชี่ยวชาญในการทำหลักสูตรอยู่แล้ว เมื่อเราเป็นพาร์ตเนอร์กับเขา ก็จะนำหลักสูตรของ Code.org มาประยุกต์กับหลักสูตรของเราในการจัดทำสื่อวิชาวิทยาการคำนวณ เพื่อตอบสนองต่อการสอนของครูอย่างมีประสิทธิภาพ”

ทั้งนั้น อักษร เอ็ดดูเคชั่น ได้ส่งนักวิชาการเข้าร่วมอบรมหลักสูตร CS Fundamentals Facilitator Summit ของ Code.org ที่เมืองซานอันโตนิโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้สามารถเป็นผู้อำนวย (facilitator) การฝึกและอบรมครูไทยให้เกิดความเข้าใจในวิชาวิทยาการคำนวณ อันนำไปสู่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และกิจกรรมในห้องเรียนด้วยตนเองได้

“ในเดือน พ.ค.นี้ เราจะจัดงานประชุมขนาดใหญ่ เพื่อจุดประกายคนให้เข้าใจว่า computing science คืออะไร และ computational thinking สามารถประยุกต์ใช้ภายในโรงเรียนได้อย่างไร กลุ่มเป้าหมายคือผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ เพื่อให้พวกเขามีความเข้าใจต่อเรื่องนี้มากขึ้น หลังจากนั้น เราจะมีอีเวนต์เพาะครูแม่ไก่ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ เบื้องต้นจะปั้นครูแม่ไก่ให้ได้ 200 คนก่อน แล้วให้พวกเขาไปถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน computing science ให้กับครูคนอื่นต่อไป”

“วีณา เนาวประทีป” ผู้จัดการฝ่าย STEM บริษัท อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด ตัวแทนผู้เข้าร่วมอบรมกับ Code.org ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การสร้างครูแม่ไก่เป็นเหมือนการสร้าง facilitator ที่จะออกไปช่วยเทรนครู หรือสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเข้าใจที่มากขึ้นในวิชาวิทยาการคำนวณ

“เราจะสร้าง mindset ให้ครูเข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นครูจากสาระวิชาไหนก็สอนวิชานี้ได้ โดยเราพยายามจับโซลูชั่นใส่ไปในสื่อของเรา เพื่อให้ครูมีเครื่องมือที่ใช้งานได้ง่าย อย่างตอนนี้ก็มีหนังสือเรียนหลายรูปแบบ และมีแผนการสอนแบบละเอียดให้กับครูด้วย นอกจากนั้น เราเตรียมสร้าง ecosystem ต่าง ๆ ที่ทำให้โรงเรียนและครูสามารถเลือกมาใช้ในการเรียนการสอน ผสมผสานไปกับการจัดเทรนนิ่งผ่านครูแม่ไก่”

อย่างไรก็ดี ครูยังสามารถใช้อุปกรณ์รอบตัวมาเป็นสื่อการเรียนการสอนได้ และนี่เป็นส่วนหนึ่งที่อักษร เอ็ดดูเคชั่น ให้ความสำคัญ และจะเทรนให้กับครูด้วย ซึ่งจากการเป็นพาร์ตเนอร์กับ Code.org ทำให้บริษัทได้ทรัพยากรที่เขามีอย่างมหาศาล และสามารถนำมาปรับให้เข้ากับบริบทการเรียนการสอนของไทย

“อยากเน้นย้ำว่า วิชาวิทยาการคำนวณไม่ได้สอนเพื่อให้เด็กทุกคนต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ หรือนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ แต่ต้องการให้เด็กมีทักษะการคิดที่ถูกใช้ในการทำความเข้าใจปัญหา และสามารถสร้างแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ”

เพราะทักษะนี้ หรือที่เรียกกันว่า computational thinking กำลังจะกลายเป็นทักษะพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และเป็นทักษะที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการทำงานในอนาคต