ผลอิมเมจิ้นคัพ 2018 มจธ.กวาดเรียบทั้ง 3 รางวัล

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ประกาศผลทีมผู้ชนะการแข่งขันรายการอิมเมจิ้นคัพ ประเทศไทย 2018 (Imagine Cup Thailand 2018) โดยทีม BeeConnex จาก ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับชัยชนะท่ามกลางการแข่งขันอย่างเข้มข้นใน 10 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ

อิมเมจิ้นคัพเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักเรียน และนักศึกษาในประเทศไทยคิดค้นโซลูชั่นประเภทคลาวด์ เพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งไมโครซอฟท์ได้จัดการแข่งขันภายใต้ธีม Code with Purpose โดยเสริมสร้างทักษะด้านการพัฒนาคลาวด์ให้กับนักเรียนและนักศึกษา พร้อมทั้งให้ผู้เข้าแข่งขันนำเสนอแนวคิดสร้างสรรค์และโครงงาน เพื่อลุ้นโอกาสในการชนะรางวัลเงินสด และเครดิต Azure

“สมศักดิ์ มุกดาวรรณกร” ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าความก้าวหน้าของการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลจะส่งผลกระทบต่อตลาดงานในวงกว้าง งานหลายประเภทจะถูกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งจากผลการสำรวจ “ปลดล็อกโลกเศรษฐกิจในยุคแห่งการปฏิรูปด้วยดิจิทัล” ที่จัดทำขึ้นโดยไมโครซอฟท์ และไอดีซี เอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า 95% ของงานในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปในอีก 3 ปีข้างหน้า

“ไมโครซอฟท์จึงมุ่งมั่นเสริมสร้างทักษะทางเทคโนโลยีให้กับเยาวชนไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพในอนาคต และเป็นหนึ่งแรงสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักเรียน และนักศึกษาจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการอิมเมจิ้นคัพ ด้วยคำแนะนำที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถพัฒนาแนวคิดของตนเองไปอีกขั้น พร้อมต่อยอดไปสู่การพัฒนาธุรกิจต่อไป”

สำหรับทีม BeeConnex ผู้ชนะการแข่งขันรายการอิมเมจิ้นคัพ ประเทศไทย 2018 ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 3 คน ได้แก่ บุญฤทธิ์ บุญมาเรือง, วัชริศ บุญยิ่ง และทิติยะ ตรีทิพไกวัลพร จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มจธ.

โดยนำเสนอแนวคิดระบบรังผึ้งอัจฉริยะ (Smart Hive) แพลตฟอร์มที่ทำให้ผู้เลี้ยงผึ้งสามารถบริหารจัดการการเลี้ยงผึ้งได้ง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการวิเคราะห์จากอุปกรณ์ไอโอที และเสียงที่สามารถตรวจจับ และแจ้งเตือนความผิดปกติในรังผึ้งผ่านแดชบอร์ด และแอปพลิเคชั่นเพื่อการสื่อสารผ่านการส่งข้อความ

“บุญฤทธิ์ บุญมาเรือง” สมาชิกจากทีม BeeConnex บอกว่า การเลี้ยงผึ้งในปัจจุบัน เกษตรกรยังคงประสบปัญหาผึ้งตายยกรัง และแม้การศึกษาเกี่ยวกับผึ้งจะมีมานานแล้ว แต่ยังไม่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งจากการทำ Smart Hive และมีการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ พบว่าผึ้งส่งสัญญาณต่าง ๆ ออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันได้หลากหลายรูปแบบ หรือเรียกว่า Bee Dance

“อุปกรณ์เซ็นเซอร์จะส่งข้อมูลไปยัง cloud computing ที่ทำงานอยู่บน Microsoft Azure ทำให้รูปแบบต่าง ๆ ที่นับไม่ถ้วนถูกแยกแยะได้อย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะการแยกแยะรูปแบบที่ยากอย่างเสียงที่ผึ้งส่งสัญญาณ ก็ทำได้ในระยะเวลาอันสั้น ขณะเดียวกัน cloud computing ยังเตือนให้เราทราบก่อนที่จะเกิดการตายยกรังได้อีกด้วย นั่นหมายความว่าโซลูชั่นนี้สามารถวิเคราะห์และทำนาย เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีได้ โดยจะส่งสัญญาณทันทีที่พบว่าผึ้งมีอาการผิดปกติ”

สำหรับการแข่งขันในปีนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรรายสำคัญอย่างกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) โดยได้มอบรางวัลพิเศษด้านโครงงานดีเด่นเพื่อการศึกษา และสิริเวนเจอร์ส ที่มอบรางวัลพิเศษให้กับโครงงานดีเด่นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ด้วยความร่วมมือเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริมด้านการศึกษาให้แก่เยาวชน โดยทีมที่ได้รับรางวัลโครงงานดีเด่นเพื่อการศึกษา คือ ทีม Bot Therapist จาก มจธ. ผู้นำเสนอแนวคิดหุ่นยนต์ “บลิส” (Bliss) ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กออทิสติกในการเรียนรู้และเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงทีม inSpectra จาก มจธ. ซึ่งมีโครงงานแนวคิดระบบตรวจจับการรั่วไหลของแก๊สด้วยภาพสเปกตรัม โดยคว้ารางวัลโครงงานดีเด่นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น