บูมอุตสาหกรรมการบิน ม.เกษมบัณฑิตปั้นคนครบวงจร

แนวโน้มอุตสาหกรรมการบินของโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทโบอิ้งคาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าทั่วโลกจะมีความต้องการเครื่องบินกว่า 41,000 ลำ ทั้งยังมีความต้องการนักบินจำนวน 6.17 แสนคนตลอดจนช่างซ่อมบำรุงอีกจำนวน 6.79 แสนคน ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยระบุว่าความต้องการบุคลากรด้านการบิน และบุคลากรด้านการควบคุมการจราจรทางอากาศ และช่างอากาศยานในภูมิภาคเอเชียจะมีมากถึง 40,000 คน

ผลจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินส่งผลให้มีการขยายเส้นทางการบินเพิ่มมากขึ้น และแน่นอนว่าความต้องการบุคลากรสาขาอุตสาหกรรมการบินย่อมเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยมีหลายสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านนี้โดยเฉพาะ รวมถึงมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตที่ไม่ยอมตกเทรนด์ พร้อมเดินหน้าเปิดหลักสูตรการบินครบวงจร (one stop total solutions)

“ดร.เสนีย์ สุวรรณดี” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ม.เกษมบัณฑิต กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมามีสายการบินใหม่เปิดขึ้นเยอะมาก มหาวิทยาลัยจึงเปิดหลักสูตรด้านการบริการ ได้แก่ สาขาธุรกิจการบิน และสาขาการจัดการอุตสาหกรรมการบิน ในระดับปริญญาตรี และสาขาการจัดการการบิน ในระดับปริญญาโท เพื่อสร้างมืออาชีพไปรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน หลังจากนั้นจึงเปิดสถาบันพัฒนาบุคลากรการบิน (Aviation Personnel Development Institute :APDI) โดยให้บริการ facility และ safety training กับสายการบินของไทยและภูมิภาค

อย่างไรก็ดี ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเห็นปัญหาการขาดแคลนนักบิน และช่างซ่อมบำรุงอากาศยานซึ่งประเทศไทยผลิตนักบินปีละประมาณ 300 คน แต่ความต้องการนักบินอยู่ที่ปีละ400-500 คน รวมถึงอาชีพช่างซ่อมบำรุงอากาศยานในปัจจุบันมีประมาณ 9,000 คน แต่มีความต้องการบุคลากรด้านนี้เพิ่มขึ้นปีละ 1,000 คน นอกจากนั้นภาครัฐยังมีนโยบายให้การบินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม new S-curve และแผนการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร จากเดิม 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี รวมถึงจะขยายสนามบินดอนเมืองเฟส 3

ขณะเดียวกัน ยังมีการอนุมัติการขยายสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติหลักแห่งที่ 3 ของประเทศไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ

“ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนมากมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบิน แต่คนที่จะมารองรับหรือทำงานในอุตสาหกรรมนี้กลับมีไม่เพียงพอความต้องการ ดังนั้น ม.เกษมบัณฑิตจึงพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติม โดยจะเปิดสาขานักบิน และช่างซ่อมบำรุงอากาศยานในปีการศึกษา 2561”

แผนการดำเนินงานที่วางไว้คือ จะเน้นการสร้างเครือข่าย อย่างสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน (Approved Training Organization : ATO) ในการร่วมผลิตนักบินพื้นฐาน และมี airline partner มาสนับสนุนการพัฒนานักบิน รวมถึงการจับมือกับบริษัทซ่อมบำรุงอากาศยานด้วย ซึ่งการเปิดหลักสูตรครั้งนี้จะเติมเต็มความต้องการและการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินอย่างเป็นระบบและครบวงจร

“ดร.ปริญญา บุญมาเลิศ” หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษมบัณฑิตให้รายละเอียดเพิ่มเติมของหลักสูตรนักบิน และช่างซ่อมบำรุงอากาศยานว่า จะเป็นแขนงวิชาของสาขาวิศวกรรมเครื่องกล โดยปกติแล้วสาขานี้รับนักศึกษาใหม่ปีละ 60 คน เมื่อเพิ่ม 2 แขนงวิชาใหม่เข้ามา ตั้งเป้ารับนักศึกษาใหม่เพิ่มอีกเท่าตัว หรือแขนงวิชาละ 30 คนต่อปี ซึ่งค่าเรียนของหลักสูตรช่างซ่อมบำรุงอากาศยานอยู่ที่ 3 แสนบาทตลอดหลักสูตร ส่วนหลักสูตรนักบินอยู่ที่ 2 ล้านกว่าบาทตลอดหลักสูตร

“ด้วยความที่เป็นแขนงวิชา นักศึกษาจะได้เรียนวิชาหลักของเขาตอนปี 3 ข้อดีคือ หากเขาเรียนไปแล้ว และระหว่างทางได้พิจารณาว่าตัวเองต้องการเปลี่ยนสาย ก็สามารถเบนเข็มไปเรียนสาขาอื่นได้ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลา ค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น ซึ่งหลักสูตรที่เปิดเป็นสาขาเฉพาะไปเลยจะไม่สามารถทำอย่างนี้ได้”

ทั้งนี้ การเปิดหลักสูตรนักบิน และช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน จะช่วยตอกย้ำภาพของ ม.เกษมบัณฑิตให้มีความโดดเด่นด้านการบินมากยิ่งขึ้นหลังจากที่สาขาธุรกิจการบิน และสาขาการจัดการอุตสาหกรรมการบินเป็นหลักสูตรธงนำของมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาโดยตลอด


พร้อมกันนั้น ม.เกษมบัณฑิตตั้งเป้าว่า จะปั้นสถาบันพัฒนาบุคลากรการบินให้มีมาตรฐานมากที่สุด โดยต้องเป็น one stop service ทั้งด้าน simulator และ safety training เพื่อก้าวสู่การเป็น 1 ใน 3 ของสถาบันพัฒนาบุคลากรการบินที่มีคุณภาพของไทยให้ได้