ก้าวที่กล้า “หอการค้าฯ” ปั้นนักรบ ศก. สร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่

ด้วยพันธกิจหลักที่ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยึดถือ และเป็นแนวทางในการส่งเสริมนักศึกษาตลอดมา ในด้านการมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ โดยให้ผู้ประกอบการก้าวออกไปมีความรอบรู้ ทั้งในด้านการค้า และธุรกิจ โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหนึ่งในการนำพาธุรกิจของตัวเองจนประสบความสำเร็จ

ผลเช่นนี้ จึงทำให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยร่วมกับคณะกรรมการ Creative Digital Economy สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 11 บริษัทภาคเอกชน ด้านธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบด้วย บริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน)

บริษัท ดิ เอ็กซ์เพิร์ท ไอซีที จำกัด, บริษัท ทูสปอตคอมมิวนิชั่น จำกัด, บริษัท ออพติมุส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ดี บัสซ์ จำกัด, บริษัท ยิบอินซอย จำกัด, บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการ ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบาย Trade & Service 4.0

“รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนชั้นนำด้านธุรกิจ การค้า และอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งมีพันธกิจหลักในการเป็น Practice-University ที่ให้ความรู้ และพัฒนาทักษะแก่นักศึกษา ไม่ว่าจะเรียนคณะใด นักศึกษาทุกคนเมื่อจบการศึกษาเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต้องมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการที่สามารถใช้นวัตกรรม และดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ หรือที่เรียกว่า IDE (innovation driven entrepreneurship) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

“เราจึงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทยที่กำหนดให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคน จากทุกคณะและสาขา ฝึกฝนทักษะพื้นฐานการโค้ด (coding) หรือการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์สมัยใหม่ โดยมีการเปิดสอนวิชา GE201 การคิดเชิงนวัตกรรมทางดิจิทัล และการโค้ด (digital innovative thinking and coding) เพราะเทคโนโลยีที่เราใช้ประโยชน์กันทุกวันนี้ เบื้องหลังต้องเกี่ยวข้องกับการ coding ทั้งสิ้น”

“วิชานี้จะช่วยฝึกให้นักศึกษาคิดอย่างเป็นระบบ สามารถสร้างคำสั่งให้โปรแกรมทำงานตามที่เราต้องการได้ หากผู้ประกอบการมีทักษะการ coding จะช่วยให้พวกเขาต่อยอดความคิดไปได้ไกลกว่าเดิม สามารถสร้างสรรค์โซลูชั่นต่าง ๆ ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับสังคมได้ในอนาคต ตรงนี้สะท้อนเป็นอย่างดีว่ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีความพร้อมเดินหน้าให้ความรู้ และพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล”

“ตามแนวทางการเป็น Practice University ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน work integrated learning หรือ WIL ร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้การขับเคลื่อนนโยบาย Trade & Service 4.0 ด้วยเครือข่ายหอการค้าไทยที่เป็นจุดแข็งของเรา ผ่านโครงการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และบริการ (สหกิจศึกษา) โดยได้รับการสนับสนุนโครงการจากองค์กรภาคเอกชน 11 บริษัท”

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกับองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะร่วมกันส่งเสริม และสนับสนุนในการเสริมทักษะในการปฏิบัติงานจริงให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศอย่างยั่งยืน

ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการพัฒนาบุคลากรด้านธุรกิจดิจิทัลและบริการ (สหกิจศึกษา) ภายใต้

เจตนารมณ์ และหลักการร่วมกันในการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพด้านธุรกิจดิจิทัล และบริการ มาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ และบริการ ของประเทศต่อไป

“รศ.ดร.เสาวณีย์” กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นเรายังเปิดสาขาวิชาใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล และบริการอีก 4 สาขา ได้แก่ Big Data Management, Game Business, Digital Technology และ Digital Content Creation รวมทั้งหลักสูตรระยะสั้น 2 หลักสูตร ได้แก่ Industry of Digital Communication Business และ Data Science

“ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนด้านทุนการศึกษาจากองค์กรผู้สนับสนุนโครงการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และบริการ (สหกิจศึกษา) จำนวน 30 ทุน ให้แก่นักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2561 ที่สมัครเรียน 4 สาขาดังกล่าว ทั้งยังจะได้รับโอกาสในการทำงานกับ 11 บริษัท ตั้งแต่กำลังเรียนอยู่ และภายหลังที่จบการศึกษาแล้ว เพื่อพัฒนาทักษะ และต่อยอดประสบการณ์โดยตรงต่อไป”

จึงนับเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยที่กำลังเดินหน้าสร้างนักรบเศรษฐกิจ บัณฑิตพันธุ์ใหม่ ยุคดิจิทัล 4.0 ที่ใฝ่เรียนรู้ทั้งใน และนอกห้องเรียน ทั้งยังมีความคิดเชิงนวัตกรรม มีความสามารถในการปรับตัว ทำงานด้วยความเชื่อมั่นที่ว่าทุกอย่างเป็นไปได้

ที่สำคัญคือ การกล้าลงมือทำ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศทั้งในภาคธุรกิจ และการบริการในยุคธุรกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในโลกแห่งเศรษฐกิจยุคดิจิทัล