โครงการก่อการครู สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง

การพัฒนาการศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับรากฐาน จึงทำให้สังคมไทยฝากความหวังของประเทศจนทำลายความสุขของครู นักเรียน และผู้ปกครอง

แม้ตลอดช่วง 10 ปีผ่านมา จะมีการกระจายอำนาจ และทรัพยากรในการพัฒนา แต่กระนั้น ยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ซึ่งทำให้รูปแบบวิธีการสอนไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้เรียนยุคใหม่ ปัญหาที่ตามมาคือเราจะสร้างการศึกษาเพื่อช่วยลดความทุกข์ของสังคมไทย และก่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนได้อย่างไร ไม่นับรวมการสร้างห้องเรียนที่มีความสุขต่อทั้งตัวครูและนักเรียนให้เกิดขึ้นอย่างไรด้วย

คณะวิทยาการเรียนรู้ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงเครือข่ายองค์กรภาคี จึงร่วมกันทำ “โครงการก่อการครู” โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการผู้นำแห่งอนาคต ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาไทย โดยโครงการจะมุ่งทำงานกับครู ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของระบบการศึกษา ทั้งยังเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) และเป็นจุดคานงัดของระบบการศึกษา โดยเริ่มกิจกรรมเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมผ่านมา และจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2561

“อธิษฐาน์ คงทรัพย์” หัวหน้าโครงการก่อการครู อธิบายเป้าหมายหลัก 3 ข้อ ของโครงการว่า เป้าหมายแรกคือการสร้างครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เราตั้งเป้าไว้ที่ครู 5,000 คน จากครูทั้งหมด 500,000 คน ทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปี

“เป้าหมายที่สองคือ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ คล้ายกับชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ (professional learning community-PLC) แต่เราอยากทำให้พื้นที่นี้มีชีวิตชีวา เพื่อให้ครูมาพบเจอ และเติมพลังซึ่งกันและกัน เป้าหมายที่สาม ให้แนวทางการสร้างครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นหนึ่งในทางเลือกแก่การศึกษาไทย”

“อธิษฐาน์” อธิบายต่อเพื่อให้เห็นภาพว่าจุดหนึ่งที่ชุมชนการเรียนแห่งนี้อาจแตกต่างจากที่อื่นคือการให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ในตัวครู และเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ทั้ง 3 ช่วง

ช่วงแรกคือ การมองเข้าไปสำรวจความเป็นมนุษย์ หรือความเป็นคนของครู ผ่านกิจกรรม 3 ด้านจากอาจารย์ 3 ท่าน คืออาจารย์ธนัญธร เปรมใจชื่น กระบวนการนักจิตบำบัด ผู้ก่อตั้ง บริษัท เซเว่น เพรสเซ่นส์ จำกัด ที่ชวนครูทุกคนมองเข้าไปข้างในความเป็นคนของคนเป็นครู, อาจารย์พฤหัส พหลกุลบุตร วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ กลุ่มละครมะขามป้อม และมหา’ลัยเถื่อนมาชวนคิดในประเด็นกล้าที่จะไม่สอน : จากการสอนในวัฒนธรรมเชิงอำนาจนิยมสู่กระบวนการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ และ ผศ.นพ.พนม เกตุมาน อาจารย์ภาควิชาจิตเวช ศิริราชพยาบาล และจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาสำหรับเด็ก และวัยรุ่น ชวนสังเกต และปรับวิธีการ การจัดการห้องเรียนสำหรับผู้เรียนที่มีความหลากหลาย และความต้องการพิเศษเพื่อรับฟัง และเข้าใจความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน

ช่วงที่ 2 ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคม และสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม จะเป็นตลาดวิชาประมาณ 20 วิชา ให้ครูได้เลือกเติมเต็มทักษะ และเครื่องมือต่าง ๆ ตามความสนใจ เช่น วิชากระบวนการคิดเชิงออกแบบสำหรับการศึกษา และการออกแบบเกมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นต้น

ช่วงสุดท้ายราวเดือนสิงหาคมถึงกันยายน โดยจะเน้นการพัฒนา และออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ครูมีทักษะ และความสามารถในการเป็นครูกระบวนการ เพราะครูยุคใหม่จะไม่ใช่ผู้สอนอีกต่อไป แต่จะเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้

ส่วนผลลัพธ์ของโครงการก่อการครูจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับพลังของครูรุ่นใหม่ที่ต้องการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ซึ่งพลังอันยิ่งใหญ่นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากเราไม่มีการผนึกกำลังร่วมกัน