ดัดหลัง “นักดาบ” หักเงิน “ข้าราชการ” โปะคืน “กยศ.”

ได้ฤกษ์งามยามดีในการประกาศ “นำร่อง” หักหนี้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จาก “บัญชีเงินเดือน” ของกองทุน กยศ.

สำหรับข้าราชการโดยเริ่มจากข้าราชการกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานแรก ก่อนขยายผลไปยังส่วนราชการอื่นๆ ทั้งนี้ ข้าราชการทั้งประเทศมีกว่า 2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ กยศ.ถึง 2 แสนคน คาดว่าภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ระบบหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการอื่นๆ จะแล้วเสร็จ เลื่อนจากเดิมที่คาดว่าจะนำระบบดังกล่าวมาเริ่มใช้หักเงินเดือนลูกหนี้ กยศ.ทั้งผู้กู้ยืมรายเก่าและผู้กู้ยืมรายใหม่เป็นรายเดือนในไตรมาสแรกของปี 2561

ส่วนระบบการหักหนี้ พนักงานเอกชน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงปี 2562 ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ.อธิบายถึงการนำร่องการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมเงิน กยศ.ตาม พ.ร.บ.กยศ. พ.ศ.2560 สำหรับกลุ่มข้าราชการและลูกจ้างผ่านระบบจ่ายตรง เพื่อสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานองค์กรนายจ้างภาคราชการกว่า 220 แห่ง

ทั้งนี้ เพราะการชำระหนี้คืนกองทุน กยศ.ถือเป็นปัญหาที่เรื้อรัง มายาวนานนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการกองทุนในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2539 หลังจาก ครม.มีมติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2538 ให้จัดตั้งกองทุน กยศ. เนื่องจากมีรุ่นพี่ ที่กู้ยืมเงินกองทุน กยศ.บางส่วน เมื่อจบการศึกษา มีงานทำ และมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องผ่อนชำระหนี้เงินกู้คืนกองทุน กยศ. ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี กลับ ชักดาบ ไม่ยอมชำระหนี้ ทำให้จำนวนเงินชำระหนี้ที่กลับคืนสู่กองทุน กยศ.เพื่อให้รุ่นน้อง กู้ยืมเรียนต่อมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินที่จะต้องจัดสรรงบเพิ่มเติมในแต่ละปีแล้ว ยังส่งผลให้รุ่นน้องๆ ที่ครอบครัวมีปัญหาด้านการเงินและต้องการกู้ยืมเงินกองทุน กยศ.เพื่อให้ได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไป มีโอกาสเข้าถึงการกู้ยืมเงินกองทุน กยศ.ลดลงอีกด้วย

ปัจจุบันลูกหนี้กองทุน กยศ.ที่อยู่ในช่วงการชำระหนี้ซึ่งจบการศึกษามาแล้ว 2 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 3.54 ล้านราย ในจำนวนนี้ 2.17 ล้านราย หรือ 64% ผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่มี 1.36 ล้านราย หรือ 36% ชำระหนี้ปกติ โดยมีลูกหนี้ที่ถูกฟ้องดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2547-2560 มากถึง 1.1 ล้านราย ประเด็นดังกล่าว กองทุน กยศ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงการคลังและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความพยายามที่จะรณรงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกให้รุ่นพี่ที่กู้เงินกองทุน กยศ.และเรียนจบออกไปแล้ว ชำระหนี้คืนกองทุน แต่ดูเหมือนการรณรงค์ที่ผ่านมาจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร

ฉะนั้น มาตรการทางกฎหมายจึงถูกนำมาใช้ควบคู่กับการรณรงค์ ตั้งแต่ขั้นตอนการเรียก ไกล่เกลี่ยไปจนถึงการฟ้องร้อง แม้จะได้ผลอยู่บ้าง เนื่องจากผู้กู้หลายรายไม่ต้องการถูกฟ้องร้องหรือเป็นคดีความ เพราะนอกจากจะเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาลแล้ว ยังมีชื่อติดในเครดิตบูโร ซึ่งจะส่งผลต่อการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ในอนาคต แต่ผลที่ออกมาก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจของกองทุน กยศ.เท่าใดนัก ดังนั้น เมื่อ 2-3 ปีก่อน จึงมีแนวคิดที่จะนำระบบหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนของข้าราชการและพนักงานเอกชนมาใช้กับผู้กู้เงินกองทุน กยศ. โดยจะใช้วิธีเชื่อมระบบการชำระหนี้กับระบบของกรมสรรพากร

โดยกรมสรรพากรจะเชื่อมระบบกับนายจ้าง อีกทอดหนึ่ง และนายจ้างจะทำหน้าที่หักเงินเดือนของลูกจ้างที่เป็นหนี้กองทุน กยศ. หากนายจ้างไม่หักเงินเดือนลูกจ้างนำส่งให้กองทุน กยศ. นายจ้างจะต้องรับภาระจ่ายหนี้แทนลูกจ้าง การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตาม พ.ร.บ.กยศ. พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้บริษัทเอกชนและหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายของข้าราชการและพนักงานเอกชน ต้องมีหน้าที่หักหนี้กองทุนเพื่อการศึกษาของข้าราชการหรือพนักงานเอกชนด้วย และให้นำส่งกรมสรรพากรพร้อมกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายประจำเดือนนั้นๆ ชัยณรงค์แจกแจงรายละเอียดในการชำระหนี้ผ่านระบบหักหนี้เงินกองทุน กยศ.ผ่านบัญชีเงินเดือนว่า กรณีลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้กองทุน กยศ.ตามปกติ กยศ.จะคิดดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี

ดังนั้น การผ่อนชำระต่อปีอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เช่น หากกู้กองทุน กยศ. 1 แสนบาท จะชำระต่อปีในปีแรกเพียง 1,500 บาทเท่านั้น เมื่อใช้ระบบหักหนี้เป็นรายเดือนจะอยู่ที่เดือนละ 100 กว่าบาท กยศ.คาดว่าการนำระบบการหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนของข้าราชการและพนักงานเอกชนมาใช้ จะทำให้ยอดการชำระคืนหนี้ของ กยศ.ดีขึ้น ปัจจุบันมีตัวเลขหนี้ค้างชำระเงินกู้กองทุน กยศ.อยู่ถึง 6.83 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ค้างสะสมตั้งแต่ปี 2539-2560 จากยอดที่กองทุน กยศ.ปล่อยให้กู้ทั้งหมด 5.7 แสนล้านบาท คิดเป็นจำนวนรายที่ได้กู้เงินกองทุน กยศ.ทั้งสิ้น 5.4 ล้านราย

ผู้จัดการกองทุน กยศ.มั่นใจว่ายอดการชำระคืนหนี้ในแต่ละปีได้ปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ได้รับชำระหนี้คืน 1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี และปีที่ผ่านมาได้รับชำระคืน 2.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าปีนี้จะได้รับคืนราว 3 หมื่นล้านบาท กยศ.จะนำร่องหักหนี้เงินยืมเรียนจากบัญชีเงินเดือนสำหรับข้าราชการ

โดยเริ่มจากข้าราชการกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานแรก หลังจากนั้นจะทยอยทำกับส่วนราชการอื่นๆ คาดว่าภายในเดือนตุลาคม หรือไม่เกินเดือนพฤศจิกายนนี้ ระบบหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการจะแล้วเสร็จ สำหรับบริษัทเอกชนที่มีพนักงานเป็นลูกหนี้กองทุน กยศ. นายจ้างจะมีหน้าที่ส่งข้อมูลส่วนบุคคลของลูกหนี้ กยศ.ให้แก่กองทุน กยศ.ตามที่กองทุน กยศ.ร้องขอ ส่วนตัวพนักงานหรือข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลต่อหัวหน้าหน่วยงาน และยินยอมให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตน ชัยณรงค์คาดหวังว่าการชำระหนี้คืนจะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

ขณะที่ สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ย้ำถึงขั้นตอนการหักหนี้เงินกองทุน กยศ.จากบัญชีเงินเดือนว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้ กยศ.ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ที่จะถูกหักบัญชีเงินเดือนทราบทุกราย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อลูกหนี้แต่ละรายในการหักชำระหนี้ การวางระบบการชำระหนี้ดังกล่าวจะช่วยให้กองทุนนี้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

จากนี้ไป รุ่นพี่ ที่คิดจะเบี้ยวจ่ายหนี้กองทุน กยศ.หรือพยายามหลีกเลี่ยงชำระหนี้คงทำได้ยากขึ้น เพราะเมื่อเรียนจบ ได้งานทำ และมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องเข้าสู่ระบบการหักหนี้เงินกองทุน กยศ.จากบัญชีเงินเดือนทุกรายโดยอัตโนมัติ จะช่วยให้กองทุน กยศ.ได้รับเงินที่ถูกกู้ยืมไปกลับเข้าสู่กองทุนทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด เพื่อให้ รุ่นน้อง ได้กู้ยืมต่อไป ต้องรอดูว่าระบบการหักหนี้เงินกองทุน กยศ.จากบัญชีเงินเดือนแก้เผ็ดนักชักดาบ จะมีประสิทธิภาพได้อย่างที่คาดหวังเอาไว้หรือไม่!!

 

ที่มา : มติชนออนไลน์