สมศ.เร่งสร้างจรรยาบรรณ เน้นย้ำโรงเรียนไม่ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อผู้ประเมิน

“รศ.ดร.ณมน จีรังสุวรรณ” ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เปิดเผยว่า ผลการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น (ร่าง) กรอบมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาปรับปรุงกรอบการประเมินคุณภาพภายนอกให้เหมาะสม เป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 และ 29 กรกฎาคม 2560 นั้น

จากการทำประชาพิจารณ์มีผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย หน่วยงานต้นสังกัด ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และนิสิตนักศึกษาสถาบันการศึกษาทั้งการศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา รวมถึงผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่น

ผลจากการประชาพิจารณ์ทั้ง 4 ภูมิภาค พบว่า สถานศึกษาส่วนใหญ่มีความพึงพอใจที่มีการบูรณาการการทำงานระหว่าง สมศ. กับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับระบบการประกันคุณภาพที่เชื่อมโยงและสอดคล้องกัน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานประเมินตนเอง หรือ SAR จะทำให้สถานศึกษาลดความกังวลในการประเมินคุณภาพภายนอกเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารเพิ่มเติม

ส่วนประเด็นที่เป็นข้อกังวลมากที่สุด คือ จรรยาบรรณในการประเมิน พบว่าเกิดจาก 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ประเมินและผู้รับการประเมินที่ส่งผลให้เกิดทัศนคติเชิงลบต่อการประเมินอย่างต่อเนื่อง

“กรณีที่เกิดจากผู้ประเมิน สมศ. มีมาตรการตรวจสอบการทำงานและพฤติกรรมของผู้ประเมิน ผ่านระบบสารสนเทศเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก หรือ Automated QA (AQA) เป็นระบบการตรวจสอบ ติดตาม ผู้ประเมินเป็นรายบุคคล ต้องระบุชื่อผู้ประเมิน เรียกว่า QC100 ผลการประเมินจะเป็นความลับ โดยสถานศึกษาแต่ละแห่งจะได้รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านเพื่อเข้าระบบและกรอกข้อมูลในแบบประเมิน และมีข้อคำถามที่สามารถสะท้อนคุณสมบัติของผู้ประเมินในด้านต่างๆ”

ทั้งด้านความรู้ พฤติกรรมการปฏิบัติงาน จรรยาบรรณ และมีคำถามปลายเปิดให้สถานศึกษาให้ข้อเสนอแนะได้อย่างเปิดกว้าง โดยจะวิเคราะห์และประมวลแบบประเมินและความคิดเห็นสะท้อนกลับของสถานศึกษานำมาปรับปรุงพัฒนาการประเมินด้วย กรณีได้รับแจ้งว่าผู้ประเมินคนใดทำผิดจรรยาบรรณ ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม จะลงติดตามเชิงลึก หากพบว่าผิดจริงจะมีมาตรการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

“อีกด้านหนึ่งคือ จรรยาบรรณของผู้รับการประเมิน ซึ่งทั้ง 3 รอบการประเมินพบว่า สถานศึกษาส่วนใหญ่ยังติดกับวัฒนธรรมการต้อนรับเลี้ยงดูปูเสื่อผู้ประเมิน ตามธรรมเนียมปฏิบัติแบบไทยที่ใครมาถึงเรือนชานต้องให้การต้อนรับ แม้ว่า สมศ. จะประชาสัมพันธ์ให้สถานศึกษาไม่ต้องเตรียมการต้อนรับใดๆ กับผู้ประเมิน แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ามีการจัดเตรียมการต้อนรับผู้ประเมินแบบเต็มที่ สุดท้ายกลับกลายเป็นการสร้างภาระและความยุ่งยากต่อการปฏิบัติงานและการจัดการเรียนการสอนของครู และนักเรียนในสถานศึกษา”

“คนส่วนใหญ่มองว่าการประเมินเป็นเรื่องดี มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษา จากนี้ไปควรต้องปรับทัศนคติต่อการประเมินในเชิงบวกมากขึ้น เร่งสร้างจรรยาบรรณของการประเมินทั้งผู้ประเมินและผู้รับการประเมินให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ในมิติของความร่วมมือและก้าวเดินไปพร้อมๆ กัน”

โดยในการประเมินรอบ 4 ทางสมศ. ได้วางหลักสูตรการพัฒนาผู้ประเมินแบบเข้มข้น เพื่อพัฒนาความรู้และปลูกฝังจรรยาบรรณ ในส่วนสถานศึกษาต้องลดความสำคัญของเรื่องพิธีรีตองของการต้อนรับ เน้นให้ข้อมูลตามสภาพจริงสนับสนุนให้การประเมินเกิดผลสำเร็จ เพื่อผลลัพธ์สุดท้ายที่จะเกิดกับตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามในช่วงเดือน ส.ค.นี้ สมศ. ขอเชิญชวนผู้บริหาร ครูอาจารย์ นิสิตนักศึกษา ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความความคิดเห็น (ร่าง) กรอบมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผ่านทาง www.onesqa.or.th ได้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2560

หลังจากนั้น สมศ. จะนำความคิดเห็นมาประมวลและปรับปรุงแก้ไขกรอบมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ก่อนนำไปใช้ในการประเมินจริงในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ต่อไป