ลดรอยต่อการศึกษา สร้างไทยเป็นสังคมการเรียนรู้

ระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศไทยยังขาดความต่อเนื่องและความสอดคล้อง ตลอดจนมีการแบ่งแยกที่ตายตัว ทำให้เกิดช่องว่างและรอยต่อที่เด็กและผู้ทำงานด้านการศึกษาต้องก้าวข้าม จนกว่าจะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ จึงได้เกิดแนวคิด “การศึกษาไร้รอยต่อ” (Seamless Education) ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมคิด ร่วมมือ และร่วมใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่และเข้าใจการศึกษาไทย ในงาน TEP Forum 2024 “สร้างประเทศไทยเป็นสังคมการเรียนรู้: เรียนรู้สู่สมรรถนะอย่างไร้รอยต่อ” สกสว. และภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาจาก 22 หน่วยงาน จึงร่วมพูดคุย สำรวจสถานการณ์ กำหนดทิศทาง และออกแบบกลไกเชื่อมโยงความร่วมมือสู่การขับเคลื่อนงานด้าน Learning Platform ของประเทศ

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล

“รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ระบบการศึกษาแบบไร้รอยต่อเป็นมุมมองในการทำความเข้าใจระบบการศึกษาไทย เป็นทรรศนะที่ยึดการเรียนรู้ของบุคคลเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญกับทุนทางสังคมที่มองเห็นว่าภาคีเครือข่าย หรือ Actors อื่น ๆ ที่ให้บริการทางการศึกษาและการเรียนรู้อยู่มากมาย รวมทั้งการมองเห็นความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ซึ่งที่ผ่านมานโยบายทางการศึกษาเน้นการออกกฎระเบียบหรือวิธีการแก้ปัญหาแบบเหมารวม ส่งผลให้เกิด “รอยต่อ” ที่เป็นอุปสรรคทำให้บุคคลเข้าไม่ถึงเส้นทางการเรียนรู้ ทำให้การพัฒนาศักยภาพไม่ต่อเนื่องหรือไม่ตอบโจทย์ชีวิต

“การวิเคราะห์รอยต่อทางการศึกษาและการเรียนรู้จะช่วยให้เห็นว่า เมื่อบุคคลเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับระบบการศึกษาจะประสบปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งช่วยให้เกิดจินตนาการของระบบการศึกษาแบบใหม่ ว่าควรจะต้องส่งมอบอะไร เพื่อให้รอยต่อในชีวิตการเรียนรู้ของบุคคลลดลง”

รอยต่อที่สำคัญ ๆ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเด็น ได้แก่ 1) รอยต่อระหว่างการศึกษาในระบบและนอกระบบโรงเรียน 2) รอยต่อที่เกิดจากความหลากหลายของตัวผู้เรียน 3) รอยต่อระหว่างศาสตร์และสาขาวิชา 4) รอยต่อระหว่างผู้ที่ทำงานด้านการขับเคลื่อนการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศ

Advertisment

“รศ.ดร.ปัทมาวดี” ยกตัวอย่างรอยต่อในเรื่องของการศึกษา เช่น การที่ผู้เรียนมีการย้ายระบบการศึกษา มีการข้ามเส้นแบ่งระหว่างการศึกษาในและนอกโรงเรียนได้ ดังนั้นจึงควรมีการเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ระหว่างในระบบและนอกระบบ

ยกระดับและการสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ที่ได้มาตรฐาน รองรับการศึกษาด้านความหลากหลาย สนับสนุนให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการยอมรับ การอยู่ร่วมกันและเรียนรู้ได้ในความแตกต่าง เช่น การสนับสนุนการเรียนการสอนในภาษาแม่เชื่อมเข้าสู่ภาษาไทย

Advertisment

ขณะเดียวกันต้องเพิ่มทักษะพหุวัฒนธรรมให้แก่ครูและหลักสูตรการผลิตครู เชื่อมต่อการศึกษากับการปฏิรูปกฎหมายสถานะบุคคล การบูรณาการศาสตร์ความรู้ ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนสิ่งที่ต้องการได้ มีการแก้ปัญหาโดยใช้ความรู้ที่หลากหลาย

เช่น การปรับหลักสูตรแกนกลาง และแนวทางการประเมินให้ง่ายต่อการบูรณาการ ปรับหลักสูตรผลิตครูสร้างครูที่สอนแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์ (experiential learning) และเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้อง มีการทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน

ที่ผ่านมามีการริเริ่มแนวทางใหม่ ๆ เช่น แพลตฟอร์มที่เป็นนวัตกรรมเชิงระบบที่เชื่อมโลกการศึกษาและโลกอาชีพ แพลตฟอร์มที่เชื่อม Time & Space ช่วยให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง แพลตฟอร์มที่เชื่อมภาคีความร่วมมือในการขับเคลื่อนการศึกษาเชิงพื้นที่

และแพลตฟอร์มมีเป้าหมายในการลดอุปสรรคที่เกิดจากความแตกต่างของฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนเพื่อสมานรอยต่อด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอีกทางหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ สกสว. และภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership :TEP) จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวที “เชื่อมโยงภาคีเครือข่าย Learning Platform สู่ระบบการศึกษาไทย โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ คณะนักวิจัย มานำเสนอแพลตฟอร์มการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

1. TUXSA ปริญญาโทออนไลน์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ SkillLane โดย รศ.ดร.พิภพ อุดร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

2. โครงการ National Coding Platform เพื่อพัฒนานักเรียน และบุคลากรด้านการศึกษา ในด้าน Technology, Coding, และ AI เพื่อต่อยอดการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย และเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์กับความต้องการในอนาคต โดยมีการอบรมครูทั่วประเทศ มีระบบจัดการและบริหารห้องเรียน โดย คุณไพบูลย์ พนัสบดี Code Kit Innovation by depa

3. แพลตฟอร์มการศึกษาครบวงจรเพื่อการพัฒนานักศึกษาปริญญาโทและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรม (บพค.) โดย ดร.บรรพต หอบันลือกิจ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

4. มีดี : พลังเกษียณสร้างชาติ – ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย (Multi-generation Entrepreneur Development Educational Ecosystem) (วช.) โดย รศ.ดร.นัทธี สุรีย์ หัวหน้านักวิจัยโครงการเกษียณมีดี รองผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมการศึกษา วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

5. Learn & Earn (Freeform Learning Project) (กสศ.) โดย ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง

6. นวัตกรรมการจัดการศึกษาแก่เยาวชนนอกระบบการศึกษาด้วยการประกอบการบนฐานนิเวศวัฒนธรรมชุมชน (วช.) โดย นิติศักดิ์ โตนิติ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมการจัดการศึกษา จ.แม่ฮ่องสอน

รวมถึงการบรรยาย “ระบบธนาคารหน่วยกิตเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (National Credit Bank System to support human development and life-long learning) โดย รศ.ดร.อนุชัย รามวรังกูร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือเป็นเวทีเปิด เพื่อร่วมกันสำรวจสถานการณ์และเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานด้าน Learning platform ที่สกสว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สามารถนำกลับไปทบทวนและพิจารณาเพื่อร่วมกำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาและออกแบบกลไกเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่าง Actors ที่หลากหลาย สู่การขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนา Learning Platform ของประเทศ และพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อน Learning Platform เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไป

มาช่วยเสริมศักยภาพการศึกษา สมานรอยต่อทางด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสตร์และความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์