ตั้งกระทรวงใหม่ ควบรวม “ก.วิทย์-สกอ.-หน่วยงานวิจัย”ของประเทศทั้งหมด

 

ตั้งกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา ควบรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและหน่วยงานวิจัยของประเทศทั้งหมดมาไว้ในกระทรวงเดียวกัน เผยไม่มีการยุบกระทรวงหรือหน่วยงานใดทั้งสิ้น แบ่งโครงสร้างเป็น 4 กลุ่ม แผนและนโยบาย สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชิงวิจัย และมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ เสร็จภายในรัฐบาลนี้

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2561 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) แถลงข่าวในงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ ประจำปี 2561 เรื่อง “กระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา” ว่า ขณะนี้ มีความสับสนกรณีการยุบกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ขอชี้แจงว่า จะไม่มีการยุบกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แต่จะมีการควบรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.)และหน่วยงานให้ทุนวิจัยของประเทศทั้งหมด อาทิ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เป็นต้น มาเป็นกระทรวงใหม่ เบื้องต้นชื่อกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา หรืออาจจะเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุดมศึกษา ก็ได้ โดยการควบรวมดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายปฎิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และปฎิรูปประเทศไทยสู่ 4.0

สำหรับเหตุผลในการควบรวมมี 4 เหตุผล คือ
1.เพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 กระทรวงที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะต้องตอบโจทย์อาชีพคนไทยในอนาคตได้
2.เตรียมผู้ประกอบการสู่ศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็น Startup และ SMEs
3.เตรียมเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์และ
4.ประเทศไทยกำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ซึ่งต้องพัฒนาทั้งกำลังคนและเทคโนโลยี

ขณะเดียวกันที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ต้องการแยก สกอ.ออกจากกระทรวง เพราะต้องการปรับสถานะของมหาวิทยาลัยใหม่ให้มีบทบาทชัดเจนขึ้น ส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯนั้น บทบาทในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 ยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ หน่วยงานวิจัยของประเทศก็อยู่กระจัดกระจายและซ้ำซ้อน ดังนั้น รัฐบาลต้องการจัดองคาพยพใหม่ เพื่อตอบโจทย์ Thailand 4.0

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า ได้มีการวางกรอบแนวคิดเบื้องต้นของโครงสร้างกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา โดยจะมี 4 กลุ่มงาน

กลุ่มแรก กลุ่มงานนโยบายและวางแผน งบประมาณ ทุนวิจัย (ทั้งทุนวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์) และประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ

กลุ่มที่สอง กลุ่มสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จะใช้รูปแบบคล้ายกับของสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Academy of Sciences) ในกลุ่มนี้ จะมีเรื่องงานวิจัย ดาวเทียม ดาราศาสตร์ นิวเคลียร์ ซินโครตรอน จะมีหน่วยงานอย่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศหรือจิสด้า

กลุ่มที่สาม กลุ่มมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย ทั้งวิจัยพื้นฐาน วิจัยสู่อนาคต และวิจัยประยุกต์ ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์

กลุ่มที่สี่ คือ กลุ่มมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ ซึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยราชภัฎที่มีทั่วประเทศ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาตามภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่

โครงสร้างกระทรวงใหม่จะสามารถตอบโจทย์ของประเทศได้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งเร่งให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้

เมื่อถามว่า ขณะนี้ มีการทำ พ.ร.บ.อุดมศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อตั้งกระทรวงอุดมศึกษา จะมีผลกระทบหรือไม่ นายสุวิทย์ กล่าวว่า ไม่กระทบ สามารถนำที่ทำอยู่มาปรับเปลี่ยนและต่อยอดกันได้ ขั้นตอนจากนี้ จะมีการหารือกับนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อตั้งคณะทำงานการจัดตั้งกระทรวงใหม่ ถามอีกว่าถ้ามีการควบรวมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์กับสำนักงานคณะอุดมศึกษา ตำแหน่งซี 11 ซี 10 รวมมทั้งรวมทั้งตำแหน่งบริหารจะมีปัญหาหรือไม่ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา เพราะกระทรวงใหม่ น่าจะมีรูปแบบใช้ระบบราชการน้อยมาก จะใช้ระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่ ตั้งง่ายยุบง่าย


เมื่อถามอีกว่า จะมีหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หน่วยงานใดจะอยู่หรือไปสังกัดกระทรวงอื่นหรือไม่ นายสุวิทย์ กล่าวว่า ไม่น่าจะมี เพราะตามโครงสร้างมีการแบ่งงานกันชัดเจน เพราะกระทรวงใหมที่ตั้งขึ้นมองประเทศไทยไปสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์สร้างชาติ เพราะในประเทศที่เจริญแล้วอย่างญี่ปุ่น ก็มีการนำกระทรวงวิทยาศาสตร์กับกระทรวงศึกษาธิการ รวมกัน ในยุโรปอย่าง สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและเยอรมัน ก็มีการตั้งกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษาขึ้นมารูปแบบเดียวกับที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการ ยืนยันว่ากระทรวงใหม่จะตอบโจทย์อนาคตของประเทศได้ เป็นการปฎิรูประบบราชการอย่างแท้จริง