“นิวตันฟันด์” เทงบ 3 หมื่นล้าน สร้างเครือข่ายวิจัยไทย-อังกฤษ

เพราะเชื่อว่าสังคมและเศรษฐกิจสามารถพัฒนาได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม จึงเป็นที่มาของโครงการ Institutional Links ภายใต้กองทุนวิจัยนิวตัน (Newton Fund) ทุนวิจัยที่มุ่งสนับสนุนด้านการวิจัย และนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อปัญหาสังคม และการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ โดยมอบให้แก่ประเทศพันธมิตร หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย

โดยจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนมูลค่าทุนรวมกว่า 735 ล้านปอนด์ (32,771 ล้านบาท) ในระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2557-2564 ผ่านการร่วมมือของ3 องค์กรด้วยกันคือ บริติช เคานซิล, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

“แอนดรูว์ กลาส” ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่าตลอด 4 ปีของการร่วมมือกัน มีงานวิจัยที่ได้รับทุนไปแล้ว 17 ทุน ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ในการสร้างการมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงงานวิจัยกับสังคม หรือที่เรียกว่า งาน Cafe Scientifique ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ของการจัดงานดังกล่าว

“งาน Cafe Scientifique ครั้งนี้ มีงานวิจัยที่ได้รับทุนมานำเสนอผลงาน ซึ่งล้วนแต่มีความน่าสนใจ และส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมของประเทศไทยอย่างสูง เช่น กระดาษแบบพกพาเพื่อตรวจหาสารปนเปื้อนจากอุตสาหกรรมอาหาร โดย ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของการตรวจชิ้นเนื้อจากฟาร์ม สูงถึง 1,700-3,000 บาท/ตัวอย่าง”

“งานวิจัยชิ้นถัดมาคือการพัฒนาเครือข่ายงานวิจัยด้านสุขภาพกุ้ง เพื่อลดช่องว่าง และเชื่อมโยงในการทำงานของภาควิชาการ ภาคนโยบาย และภาคเกษตรกร โดย ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องของโรคระบาดในกุ้ง ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของไทย”

“งานวิจัยจึงมุ่งสร้างเครื่องมือ และองค์ความรู้ในการจัดการกับโรคระบาด และสร้างเครือข่ายนานาชาติในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน และวิจัยร่วมกันในการเฝ้าระวังเรื่องโรคอีกด้วย ส่วนความต่อเนื่องของทุนในปี 2561 ยังมีทุนวิจัยรวมมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท เพื่อช่วยยกระดับงานวิจัยไทย-สหราชอาณาจักร ในการพัฒนาผลงานร่วมกันต่อไป”

“รศ.ดร.นพ.พงศกร ตันติลีปิกร” ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านเครือข่ายวิจัยนานาชาติ และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวเสริมว่าความร่วมมือระหว่าง สกว.กับรัฐบาลอังกฤษในการสนับสนุนทุน InstitutionalLinks จะทำให้นักวิจัยไทยสามารถสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยในอังกฤษ

“การสร้างเครือข่ายของนักวิจัยเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากงานวิจัยมาจากหลายสาขาและการร่วมวิจัยกับนักวิจัยจากต่างประเทศ จะทำให้งานวิจัยมีความครอบคลุม สามารถสร้างองค์ความรู้ในวงกว้าง จนเกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนจากการต่อยอดจากความร่วมมือกันระหว่างประเทศ เพราะงานวิจัยที่ดีควรครอบคลุมทั้งวิทยาศาสตร์ และสังคม ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์ และการแพทย์มาก แต่ในด้านเศรษฐศาสตร์ และสังคมยังมีน้อย”

“ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงมาก แต่กลับหานักวิจัยในสายดังกล่าวน้อยมาก จึงอาจทำให้งานวิจัยขาดความรอบด้าน ขาดการเชื่อมโยงของเครือข่ายต่าง ๆ ซึ่งในหลายประเทศ หรือแม้แต่ในประเทศอังกฤษเองงานวิจัยมีการทำงานร่วมกันของนักวิจัยในหลาย ๆ สาขา เพื่อให้ครอบคลุมประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคม และประชาชนมากที่สุด”

“รวมถึงทัศนคติที่มีต่องานวิจัยที่มองว่าส่วนใหญ่วิจัยเสร็จแล้วมักขึ้นหิ้ง ไม่ได้นำมาใช้จริง หรือมองว่าการทำงานวิจัยได้รับผลตอบแทนน้อย ซึ่งจะทำให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสู่การทำงานวิจัยน้อยลง มีผลทำให้ประเทศขาดองค์ความรู้ใหม่ ๆ”

ทั้งนั้น ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนจากกองทุนนิวตัน ตั้งแต่ 50,000-100,000 ปอนด์ ทาง สกอ. หรือ สกว. จะสมทบอีก 50% ของทุน และด้วยเป็นทุนที่ให้ประเทศต้นทางเป็นผู้กำหนดแนวทางหัวข้อวิจัยได้เอง ทำให้แนวทางการวิจัยทุนต่าง ๆ มีประโยชน์ และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ทั้งในแง่สังคม เศรษฐกิจ และนวัตกรรม

สำหรับปี 2561 มีการมอบทุนแก่นักวิจัยประมาณ 3 ทุน และขณะนี้เปิดรับสมัครจนถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2561
โดยผู้สมัครจะต้องผ่านการคัดเลือกจาก สกอ. และ สกว. โดยมีรายละเอียดที่ผู้สมัครจะต้องเป็นนักวิจัยที่มีประสบการณ์ในการดำเนินโครงการวิจัยร่วมระดับนานาชาติ และเลือกหน่วยงาน

สนับสนุนไทยที่ต้องการสมัครขอทุนดังต่อไปนี้

1.สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ผู้สมัครต้องเป็นนักวิจัยในมหาวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และหัวข้อวิจัยต้องแสดงถึงแผนการส่งเสริม

ร่วมมือที่ยั่งยืน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมกับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย(new S-curve) เช่น ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรมดิจิทัล, การแพทย์ครบวงจร เป็นต้น

2.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผู้สมัครต้องเป็นนักวิจัยที่ไม่ดำรงตำแหน่งบริหารระดับอาวุโส คณบดีขึ้นไป และมีหัวข้อวิจัยภายใต้กลุ่มเป้าหมายอย่าง big data, การพัฒนาการศึกษาเชิงนวัตกรรม, การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคม, การปกครอง, เทคโนโลยีด้านอาหาร,สุขภาพ และพลังงาน

เพราะความคาดหวังต่องานวิจัย นอกจากเรื่องเทคโนโลยี และเศรษฐกิจ ยังเป็นเรื่องการสร้างประชาชนแก่สังคมในวงกว้างอีกประการหนึ่งด้วย