
หนึ่งในหลายความสับสนของเด็กชั้น ม.6 ที่กำลังเรียนจบ และก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย คือ ไม่รู้ความต้องการของตัวเองว่าจะเรียนต่อด้านไหน
และถึงแม้จะตัดสินใจไปแล้ว แต่เมื่อไปเจอกับการเรียนที่วิชาส่วนใหญ่ถูกกำหนดมาโดยหลักสูตร ก็อาจต้องเผชิญหน้ากับ “ยาขม” ไปตลอด หากไม่ย้ายหรือซิ่วไปเรียนคณะใหม่
เพื่อผลักดันให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนในสิ่งที่ “ใช่” มหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงเปิดหลักสูตรสหวิทยาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยนักศึกษาสามารถเลือกเรียนตามความชอบและความถนัดจาก 75 สาขาวิชาในมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยคู่สัญญาจากต่างประเทศ
“ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์” รองอธิการบดี ม.ศรีปทุม สะท้อนภาพการศึกษาไทยว่า เด็กบางกลุ่มเรียนโดยไม่มีแพสชั่น เป็นการเรียนเพราะต้องเรียน ทำให้ไม่มีพลังในการเรียนหรือทำงาน ซึ่งหลักสูตรใหม่ของ ม.ศรีปทุมจะปั้นให้นักศึกษาได้พัฒนาความรู้และทักษะตามศักยภาพของตัวเอง เพราะทุกคนมีความเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน
ในทางเดียวกัน ทางคณะจะปูพื้นฐานให้นักศึกษามีความพร้อมใน 4 ทักษะที่จำเป็นในโลกยุคดิจิทัล ได้แก่ management การจัดการสมัยใหม่ และมีความเป็นผู้ประกอบการ, idea ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม, communication การสื่อสารในยุคดิจิทัล และการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ รวมถึง technology เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
“เรานำวิชาเหล่านี้มาบูรณาการกับวิชาศึกษาทั่วไป เช่น วิชาศึกษาทั่วไปต้องการให้คนเป็นคนดี รับผิดชอบต่อสังคม เราก็จะนำทักษะเกี่ยวกับความเป็นผู้ประกอบการเข้าไปผนวกด้วย ซึ่งการบูรณาการแบบนี้ ทำให้เด็กไม่ได้เรียนแยกเป็นรายวิชา แต่เป็นการเรียนไปด้วยกัน คือโครงสร้างหลักสูตรเป็นรายวิชา แต่เวลาเรียนจริง ๆ ก็จะนำรายวิชามาผสมผสาน เขาอาจเรียน 3 วิชาด้วยกันในครั้งเดียว”
“อาจารย์ก็จะมีการพูดคุยกันก่อนถึงแผนการสอน ไม่ใช่แยกกันว่าใครสอนเรื่องอะไร แต่ต้องคุยกันตั้งแต่แรกเริ่มว่า ท้ายที่สุดแล้วเมื่อนักศึกษาต้องทำโปรเจ็กต์จบ โปรเจ็กต์นั้นต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เพื่อมาวัดผลลัพธ์ว่านักศึกษาได้ผลตามเป้าหมายของการสอนหรือไม่”
“ผศ.ดร.วิรัช” ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงการเรียนของหลักสูตรสหวิทยาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมว่า ในช่วงปี 1-2 อาจารย์จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาขาวิชาต่าง ๆ ในแต่ละคณะ แล้วให้นักศึกษาพิจารณาว่าอยากลองเลือกเรียนวิชาอะไร เมื่อนักศึกษาไปเรียนมาแล้ว อาจารย์ของหลักสูตรจะไกด์ว่าองค์ความรู้ที่ไปเรียนมานั้นจะมาผนวกกับการทำโปรเจ็กต์ได้อย่างไร
หลังจากเรียนจบปี 2 ที่นักศึกษาได้เรียนครบทุกวิชาของทักษะ 4 ด้าน และวิชาที่อยากเรียนแล้ว เมื่อขึ้นปี 3 ก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาของการตัดสินใจว่าต้องการเลือกเรียนในด้านไหน ซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกเรียนกับมหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ของ ม.ศรีปทุมในต่างประเทศ หรือเรียนในไทยก็ได้
โดยในชั้นปีนี้นักศึกษาต้องเลือกเรียนอย่างน้อย 2 กลุ่มวิชา (concentration) เช่น กลุ่มวิชาด้านการตลาด และกลุ่มวิชาด้านนิเทศศาสตร์ หลังจากนั้น จะให้พิจารณาว่ากลุ่มวิชาใดที่ชอบมากกว่า ก็จะให้เก็บหน่วยกิตของกลุ่มวิชานั้น ๆ จนถึงปี 4 เทอม 1 ส่วนเทอมสุดท้ายจะเป็นการนำองค์ความรู้ทั้งหมดมาพัฒนาเป็น final project
“หลักสูตรนี้จะเปิดสอนในปีการศึกษา 2561 ตั้งเป้ารับนักศึกษา 80 คน ค่าเทอมตลอดหลักสูตรประมาณ 3 แสนบาท ซึ่งเราวางแผนเสริมแกร่งหลักสูตรด้วยการนำคอนเทนต์จากต่างประเทศเข้ามาด้วย โดยจะนำออนไลน์คอนเทนต์ของมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวีลีกอย่าง ม.ฮาร์วาร์ด ม.เพนซิลเวเนีย มาสอนในกลุ่ม 4 วิชาทักษะในโลกยุคดิจิทัล โดยอาจารย์จะโค้ชเพื่อให้เขาสามารถเข้าใจและสอบผ่านได้ พร้อมกับได้ใบรับรองจากมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ซึ่งการเรียนรูปแบบนี้จะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2562”
อย่างไรก็ดี “ผศ.ดร.วิรัช” ยอมรับว่า จุดอ่อนของหลักสูตรนี้คือ คนรุ่นเก่าอาจไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจว่าหลักสูตรนี้คืออะไร ต้องดูทรานสคริปต์จึงจะเห็นว่ากลุ่มวิชาเรียนหลักคือกลุ่มไหน กระนั้น จากการที่มหาวิทยาลัยได้เข้าไปสอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารองค์กรเอกชน พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงชื่อปริญญา แต่จะดูว่านักศึกษามีทักษะใด และสามารถทำอะไรได้บ้าง
นอกจากนั้น บางบริษัทยังมองว่าหลักสูตรนี้จะสามารถสร้างคนแบบ tailor-made ให้เขาได้ โดยอาจให้ทุนการศึกษาหรือ intensive สำหรับนักศึกษาที่เลือกเข้าแนวทางขององค์กรนั้น ๆ และนักศึกษาจะต้องเรียนกลุ่มวิชาที่สอดคล้องกับธุรกิจขององค์กรดังกล่าว เพื่อตอบสนองความต้องการของบริษัท ซึ่งจะเป็นการการันตีเส้นทางอาชีพให้นักศึกษาเช่นกัน
“ผมมองว่าหลักสูตรนี้ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มเด็กที่มีแพสชั่นของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งเขาอาจมีพื้นความคิดว่าต้องการทำอะไรสักอย่าง ก็สามารถมาต่อยอดความคิดในการเรียนกับเรา รวมถึงเด็กที่ยังไม่ชัดเจนว่าตัวเองชอบอะไร หรือหาตัวเองไม่เจอ หลักสูตรก็จะเหมาะมาก ๆ สำหรับเขา เพราะเราเปิดโอกาสให้เขาได้ลองเลือกเรียนตามความสนใจ พร้อมมีอาจารย์ที่คอยโค้ชให้อย่างใกล้ชิด”
“ผศ.ดร.วิรัช” บอกว่า แม้หลักสูตรสหวิทยาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเป็นเรื่องใหม่ที่อาจต้องใช้เวลาในการสื่อสารกับสังคม แต่เขามองว่า นี่เป็นการปรับโฉมหลักสูตรและแนวทางการเรียนการสอนที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาไทยได้