สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เตรียมเปิด 2 คณะใหม่ คณะพยาบาลศาสตร์ และ คณะเทคโนโลยีนวัตกรรมบูรณาการ (SiiTec) ช่วงต้นปี 68 ออกแบบหลักสูตรให้เรียนจบแล้วทำงานได้ทันที ประยุกต์เทคโนโลยีเสริมสุขภาวะ ตอบโจทย์ตลาดงานเซมิคอนดักเตอร์ และ PCB
รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ทิศทางการศึกษาในปี 2568 มีหลายเรื่องที่น่าท้าทาย ทั้งเรื่องการขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งอาจารย์ และหลักสูตร โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินงานตามแนวทางของ Global Citizen และ Digital Technology เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี และบูรณาการการทำงานได้ทุกคณะ และวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เป็นวิทยาเขต
ส่วนน้อง ๆ ที่กำลังวางแผนที่จะเข้ามาศึกษาต่อที่สถาบัน เมื่อจบออกไป ต้องมีความมั่นใจและมีความเป็นมืออาชีพในสาขานั้น ๆ รวมทั้งมีองค์ความรู้ติดตัว ไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหน สามารถที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัยไปปรับใช้ในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว
ในฐานะที่ สจล. เป็นผู้นำการศึกษาอันดับต้นๆ ของประเทศไทย จึงเตรียมพร้อมเปิดอีก 2 คณะในช่วงต้นปี 2568 ประกอบด้วย คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีนวัตกรรมบูรณาการ (School of Integrated Innovative Technology) เพื่อตอบโจทย์ภาคสังคม รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และขับเคลื่อนภาคการศึกษาให้ก้าวทันเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็วและเข้มแข็ง
คณะพยาบาลศาสตร์ กับเทคโนโลยีสร้างเสริมสุขภาวะ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุหงา ตโนภาส รักษาการแทนคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ สจล. กล่าวว่า คณะพยาบาลศาสตร์ เป็นคณะใหม่ของ สจล. ซึ่งในปีการศึกษา 2568 จะเปิดรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเห็นชอบหลักสูตรและการตรวจรับรองสถาบันการศึกษาพยาบาลจากสภาการพยาบาล
โดยผลักดันนักศึกษาสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างเสริมสุขภาวะ พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งมีคุณลักษณะของบัณฑิตที่เป็น Global citizen มุ่งมั่นสร้างพยาบาลนวัตกรที่มีความเป็นพยาบาลยุคใหม่ มีความใส่ใจเอื้ออาทร
SiiTec พร้อมรับอุตสาหกรรมการผลิต
รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพล ภคศิริ รักษาการแทนคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง กล่าวว่า คณะเทคโนโลยีนวัตกรรมบูรณาการ (School of Integrated Innovative Technology) หรือ SiiTec เป็นคณะใหม่ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง กับวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านของการผลิต และวัสดุศาสตร์อย่างลึกซึ้ง
ดังนั้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชน อุตสาหกรรม และนโยบายรัฐบาล ทั้งในด้านอุตสาหกรรมการผลิต ด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ด้านพลังงาน โดยนำเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมการผลิต นาโนเทคโนโลยี และวัสดุศาสตร์ มาออกแบบการเรียนการสอนให้นักศึกษาสามารถจบการศึกษาออกไปทำงานได้ทันที
ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ยังจะมุ่งเน้นและส่งเสริมงานด้านเซมิคอนดักเตอร์ และ PCB ที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งมีทิศทางของการเติบโตที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาท คาดว่าสามารถรองรับนักศึกษาใหม่ได้ประมาณ 60-100 คน
ปัจจุบันเปิดสอนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุนาโน, หลักสูตร Smart Materials Technology (Multidisciplinary)(International Program), หลักสูตร 2 ปริญญา B.Eng. (Smart Materials Technology) และ B.Eng. (Robotics and AI Engineering), หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมระบบการผลิต และหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมระบบการผลิต (ต่อเนื่อง 2 ปี)
นอกเหนือจากนี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงก็ได้เปิดคณะพยาบาลศาสตร์ไปหมาดๆด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นและกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในปี 2030 หรือมีประชากรสูงวัยมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ
โดยคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แบ่งหลักสูตรเป็น 6 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาการพยาบาลมารดาทำรกและผดุงครรภ์ ภาควิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ภาควิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช ภาควิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน ภาควิชาการพยาบาลพื้นฐานและบริหารการพยาบาล ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา