“วลัยลักษณ์” สปีดอัพสู่อินเตอร์ เปิด 3 วิทยาลัยนานาชาติจับตลาดนักศึกษา

การยกระดับองค์กรสู่ความเป็นนานาชาติเป็นกลยุทธ์ที่หลายมหาวิทยาลัยเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นแนวทางหนึ่งในการเสริมภาพลักษณ์ความเป็นอินเตอร์ให้กับสถาบัน อีกทั้งยังเป็นช่องทางสำคัญในการขยายตลาดและกลุ่มผู้เรียนที่ผ่านมามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีเฉพาะหลักสูตรปกติหรือหลักสูตรภาษาไทย

แต่ปีการศึกษา 2561 ที่จะถึงในเดือนสิงหาคมนี้จะเป็นการปรับภาพของมหาวิทยาลัยอีกครั้ง เพราะมีการเปิดวิทยาลัยนานาชาติอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นแรงหนุนที่ทำให้ ม.วลัยลักษณ์ขยับสเต็ปไปสู่มหาวิทยาลัยอินเตอร์มากขึ้น

“ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าวถึงเป้าหมายของ ม.วลัยลักษณ์ ว่า ต้องการก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ โดยเริ่มต้นจากการปฏิรูปการเรียนการสอน ด้วยการนำมาตรฐาน UKPSF (United Kingdom Professional Standards Framework) ของ The Higher Education Academy มาใช้สำหรับการเรียนการสอน เพื่อให้อาจารย์มีทักษะ มีความสามารถ และมีความเป็นมืออาชีพในการสอนมากขึ้น รวมถึงจะทำให้นักศึกษามีทักษะในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ มากกว่าการเรียนแบบท่องจำ

นอกจากนี้ จะเปิดวิทยาลัยนานาชาติ 3 แห่งมาขับเคลื่อนเป้าหมาย ได้แก่ วิทยาลัยนานาชาติ ซึ่งเปิดสอนด้าน global affairs, supply chain management และ digital innovation engineering รวมถึงการเปิดวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ และวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี โดยค่าเล่าเรียนของหลักสูตรอินเตอร์อย่างทันตแพทยศาสตร์อยู่ที่ 1.2 ล้านบาทต่อปี ส่วนสัตวแพทยศาสตร์อยู่ที่ 3 แสนบาทต่อปี

“หลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์ที่กำลังจะเปิด นับเป็นหลักสูตรอินเตอร์แห่งแรกของไทย เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการเป็น medical hub ที่ไม่ใช่แค่เรื่องคน แต่เราครอบคลุมถึงเรื่องสัตว์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่า สัตว์เศรษฐกิจ รวมถึงเห็นความต้องการบุคลากรด้านนี้ที่ปัจจุบันมีชาวต่างชาติจำนวนมากที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย และมีการเลี้ยงสัตว์อีกทั้งในอนาคตคนไทยจะเลี้ยงสัตว์มากขึ้น เพราะประเทศก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้คนมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน”

ปัจจุบัน ม.วลัยลักษณ์ เปิดให้บริการโรงพยาบาลสัตว์เล็กแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการประมูลสำหรับการก่อสร้างโรงพยาบาลสัตว์ใหญ่ คาดว่าอีก 1 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ เพื่อรองรับการเรียนและฝีกปฏิบัติงานของนักศึกษา นอกจากนี้ ในปีหน้าจะเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติเพิ่มเติม

“เราเล็งเห็นว่าโรงพยาบาลเอกชนมีคนไข้ต่างชาติเยอะมาก แต่หลักสูตรแพทย์อินเตอร์ในไทยยังมีน้อย การเปิดหลักสูตรนี้จะเข้าไปเติมเต็มความต้องการของตลาดได้มากกว่าเดิม ซึ่งเรามองว่านับจากนี้ ม.วลัยลักษณ์ ต้องเดินบนเส้นทางนานาชาติมากขึ้น มิฉะนั้นจะไม่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น เราจึงต้องสปีดอัพตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหลักสูตรที่ต้องคำนึงถึงความเป็นนานาชาติ และเน้นว่าต้องมีอาจารย์ต่างชาติไม่น้อยกว่า 60%”

“หากมองตลาดของกลุ่มอินเตอร์ เห็นได้ชัดเจนว่าตอนนี้ประเทศไทยมีการเปิดโรงเรียนนานาชาติจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าเส้นทางการศึกษาของพวกเขาก็ต้องเดินต่อเนื่องมาทางหลักสูตรอินเตอร์ในระดับมหาวิทยาลัย ขณะที่กลุ่มนักศึกษาต่างชาติเป้าหมายที่มองไว้คือ นักศึกษากลุ่มยุโรปตะวันออก และยุโรปกลาง รวมถึงแอฟริกา เพราะหากเป็นกลุ่มอื่น เช่น ยุโรปตะวันตก เขาจะชอบมาระยะสั้นอย่างเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน หรือทางกลุ่มอาเซียนนั้น ผู้ปกครองยังติดค่านิยมการส่งลูกไปเรียนตะวันตกมากกว่า”

อย่างไรก็ดี ม.วลัยลักษณ์ จะจัดกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักศึกษาต่างชาติด้วย อย่างโครงการค่ายวัฒนธรรมนานาชาติที่เริ่มดำเนินการเมื่อปีที่ผ่านมา โดยได้รับความสนใจจากนักศึกษานานาชาติจาก 21 ประเทศ จำนวน 110 คนเข้าร่วมงาน และมีการจัดโครงการต่อเนื่องมาถึงปีนี้

“ผศ.ดร.พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา” ผู้กำกับดูแลศูนย์กิจการนานาชาติ ม.วลัยลักษณ์ ในฐานะผู้อำนวยการโครงการค่ายวัฒนธรรมนานาชาติ ให้ข้อมูลว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งจัดงานภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมไร้พรมแดน เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างชาติได้มารู้จักวัฒนธรรมไทย และเป็นทูตวัฒนธรรมที่จะช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปสู่สากล

“ปีนี้มีนักศึกษาให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 750 คน จาก 300 มหาวิทยาลัยใน 50 ประเทศ ซึ่งเราได้คัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดจำนวน 160 คนมาเข้าร่วมค่ายเป็นระยะเวลา 8 วัน ที่ ม.วลัยลักษณ์ โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมไทยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการทำอาหาร ต่อยมวยไทย รำไทย และดนตรีไทย”

นอกจากนั้น จะมีการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ด้วยการทำความสะอาดชายหาดที่ อ.ขนอม พร้อมศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช ผ่านการเยี่ยมชมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และล่องเรือชมลุ่มน้ำปากพนัง รวมถึงมีการเดินทางโดยรถไฟไปยังกรุงเทพมหานคร โดยนักศึกษาจะมีโอกาสเยี่ยมชมวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง รวมถึงการเข้าคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

“นักศึกษาไทยที่เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสสร้างเครือข่ายกับนักศึกษาต่างชาติจากนานาประเทศทั่วโลก และเพิ่มพูนประสบการณ์การใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตจริง ซึ่งค่ายวัฒนธรรมนานาชาติจะเป็นอีกหนึ่งโครงการของเราในการสร้างผู้นำของโลกยุคใหม่ เป็นพลเมืองโลกที่เก่ง ฉลาด เข้าใจความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมและเชื้อชาติได้เป็นอย่างดี”