BITE SIZE : ส่องฐานะการเงิน กองทุน กยศ. บิดหนี้-ค้างหนี้ เสี่ยงถังแตก ?

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กองทุนที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2538 เพื่อสนับสนุนการศึกษาแก่ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทั้งในระดับสายสามัญ สายวิชาชีพ และระดับอุดมศึกษา

แต่ที่ผ่านมา กยศ. ประสบหลากหลายปัญหา ตั้งแต่การผิดนัดชำระหนี้ การจงใจบิดหนี้ จงใจไม่ใช้หนี้ แบบที่เคยมีการแชร์บนโซเชียลมีเดีย ลามมาจนถึงสภาพคล่องของกองทุนที่หลาย ๆ คนมองว่า มีความเสี่ยงที่จะถังแตกได้

สถานการณ์ของกองทุน กยศ. ณ ตอนนี้จะเป็นอย่างไร Prachachat BITE SIZE ชวนทำความเข้าใจข้อมูลเหล่านี้พร้อมกัน

สภาพคล่อง กองทุน กยศ.

ปีงบประมาณล่าสุด (ปีงบประมาณ 2568) เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ กยศ. ขอจัดสรรงบประมาณ เพื่อรองรับการปล่อยกู้นักเรียนนักศึกษา โดยของบประมาณไป 1.9 หมื่นล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรรเพียง 800 ล้านบาทเท่านั้น ก่อนที่ภายหลังจะมีการเกลี่ยงบฯ จนได้รับการจัดสรรงบฯที่กว่า 4,572 ล้านบาท

ทั้งนี้ กองทุน กยศ. ไม่มีการของบประมาณแผ่นดิน ในช่วงปีงบประมาณ 2561-2567

ADVERTISMENT

ส่วนการใช้งบฯ ปีงบฯ ล่าสุด ข้อมูลตามเอกสารประกอบการชี้แจงงบประมาณ กองทุนต้องจ่ายเงินกู้ยืมในปีงบประมาณ 2568 กว่า 4.3 หมื่นล้านบาท ในภาคเรียนที่ 2/2567 และภาคเรียนที่ 1/2568 และยังมีภาระผูกพันจ่ายเงินกู้ยืม อีกกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท รายจ่ายสองก้อนนี้รวมกัน กว่า 5.9 หมื่นล้านบาท

เมื่อบวกเงินคืนผู้กู้ยืม จากการคำนวณหนี้ใหม่ กว่า 7.9 พันล้าน บวกรายจ่ายเกี่ยวกับการบริหารกองทุน อีก 5.1 พันล้านบาท ทำให้รายจ่ายปีงบประมาณนี้ รวมกว่า 7.23 หมื่นล้านบาท

ADVERTISMENT

แต่รายรับที่มาจากการรับชำระหนี้ และรายรับอื่น ในปีงบประมาณนี้ มีเพียงแค่ 2.7 หมื่นล้านบาท

ขณะที่กระแสเงินสดในกองทุน ประมาณการว่า เงินสดสะสมในปี 2025 จะลดลงมาจนติดลบกว่า 3 หมื่นล้านบาท และถ้าดูตัวเลขประมาณการ รายเดือน เงินสดสะสมอาจเข้าสู่ภาวะติดลบ ภายในธันวาคมนี้

 

Note : การนับปีงบประมาณของประเทศไทย จะนับตั้งแต่ 1 ตุลาคมของปีหนึ่ง จนถึง 30 กันยายนของปีถัดไป (ตัวอย่าง ปีงบประมาณ 2568 ระยะเวลาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567-30 กันยายน 2568)

กยศ. เผชิญปัญหาอะไรบ้าง ?

ที่ผ่านมา กยศ. มีความพยายามในการแก้ปัญหาหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะอัตราการจ่ายหนี้ที่ต่ำ ซึ่งกระทบไปถึงการให้กู้รายใหม่ จนถึงผู้ค้ำประกันหลาย ๆ คนที่ต้องรับสภาพหนี้แทนผู้กู้ จึงนำไปสู่การแก้ พ.ร.บ.กองทุน กยศ. เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา

โดย พ.ร.บ.ฉบับล่าสุด แก้ไขทั้งดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ลำดับการตัดชำระหนี้ เพิ่มการปรับโครงสร้าง เพิ่มรูปแบบกู้สำหรับหลักสูตร Upskill-Reskill และตัดผู้ค้ำประกันออก รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์เรื่องการชำระเงินกู้มาอย่างต่อเนื่อง โดยย้ำถึงโอกาสทางการศึกษาของผู้กู้รายใหม่ และเพิ่มการหักชำระหนี้จากเงินเดือน

แต่ปัญหาเรื่องการจ่ายหนี้ของผู้กู้ยืม ยังคงเกิดขึ้น ทั้งที่อาจจะเจอปัญหาเศรษฐกิจจริง ๆ หรือเรื่องการบิดหนี้ ไม่ยอมจ่ายหนี้คืน อย่างที่เคยเห็นบนโซเชียลมีเดีย ผลกระทบกลับมาถึงเงินหมุนเวียนในการให้กู้ ทั้งผู้กู้รายเดิม และผู้กู้รายใหม่ และอาจนำไปสู่ภาวะถังแตกของกองทุนได้

ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 กยศ. มีผู้กู้ยืมกว่า 7.1 ล้านราย อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.6 ล้านราย ชำระหนี้เสร็จสิ้นกว่า 1.9 ล้านราย

101 PUB มีการวิเคราะห์ว่า งบประมาณที่ได้รับจัดสรรอาจยังไม่เพียงพอ หากเทียบการลดลงของเงินสดเฉลี่ย 3 ปี ประมาณเดือนละ 1 พันล้านบาท อาจยื้อวิกฤตได้เพียง 4.2 เดือนเท่านั้น แต่ถ้าอิงการลดลงตามประมาณการเงินสด ปีงบประมาณ 2568 ที่ลดลงเฉลี่ยกว่า 3 พันล้านบาท อาจยื้อได้เพียงแค่ 1.2 เดือนเท่านั้น และแม้จะได้รับจัดสรรงบฯตามคำขอ 1.9 หมื่นล้านบาท ก็ยื้อวิกฤตได้เพียงแค่ 5.1 เดือนเท่านั้น

มองแนวทาง หนีวิกฤต ‘ถังแตก’

ปัญหาด้านเงินหมุนเวียนของกองทุน กยศ. เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องรีบหาทางออก ก่อนจะนำไปสู่วิกฤต และกระทบไปยังผู้กู้

101 PUB ประเมิน 3 แนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้

ทางเลือกที่ 1 ให้รัฐเติมเงินต่อเนื่องเพื่อให้ กยศ. นำเงินมาหมุน โดยให้เทียบเท่าผลขาดทุนจากการปล่อยสินเชื่อของ กยศ. ซึ่งที่ผ่านมาขาดทุนจากการปล่อยกู้ เฉลี่ย 11,240 ล้านบาท สาเหตุหลักคือ สินเชื่อจ่ายไม่ตรงเวลา มากถึง 2 ใน 3

การของบฯจากรัฐบาล ปีละ 1-2 หมื่นล้านบาท ก็อาจจะทำให้รอดได้ แต่ก็กระทบต่องบประมาณในภาพรวมด้วย และอาจนำไปสู่การเปราะบางระยะยาว ไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ หากถูกตัดงบฯ

ทางเลือกที่ 2 ลดการปล่อยสินเชื่อให้รายใหม่ เพื่อให้รายรับ-รายจ่ายสมดุลกัน แต่เงิน 1 หมื่นล้านบาทที่ลดปล่อยกู้ ก็กลายเป็นการตัดโอกาสเข้าถึงการศึกษาของรุ่นถัดไปถึง 1.8 แสนคน

ทางเลือกสุดท้าย หาหนทาง ทำให้คนกลับมาจ่ายหนี้มากขึ้น ซึ่งมีหลากหลายแนวทาง ตั้งแต่การดึงข้อมูลหนี้ กยศ. เข้าระบบเครดิตบูโร ปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มชำระไม่ตรงเวลา จนถึงการผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ เข้าระบบการหักชำระหนี้ และปรับเงื่อนไขชำระหนี้ให้เร็วขึ้นหรือจ่ายมากขึ้น

ส่วนแนวทางที่ กยศ. ระบุไว้ในเอกสารชี้แจง มีตั้งแต่การทบทวนโควตาปล่อยกู้ยืม การทบทวนหลักสูตรให้กู้ยืมเงิน และยังคงกระตุ้นและบริหารจัดการให้เกิดการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
และใครที่คิดจะบิดหนี้ แบบที่มีผู้แนะนำบนโซเชียลมีเดีย กยศ. ย้ำแล้วว่า การบิดหนี้ ไม่ยอมจ่ายหนี้ ส่งผลต่อภาระหนี้ และอาจถูกฟ้องร้องได้ และถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบ

กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ถือเป็นอีกหนทางหนึ่งในการช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ แต่เมื่อได้รับโอกาสแล้ว ก็อย่าลืมจ่ายหนี้คืน เพื่อส่งต่อโอกาสให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป ได้เรียนในสิ่งที่ตั้งใจ

ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.85 ได้ที่ https://youtu.be/oEQEG6zlwnM

เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ