วิชาวิทยาการคำนวณ องค์ความรู้แห่งโลกอนาคต

 

เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ไม่หยุดนิ่งในการเสริมแกร่งองค์ความรู้ให้กับบุคลากรทางการศึกษา สำหรับ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้จัดสัมมนาวิชาวิทยาการคำนวณ (computing science) ให้กับครูผู้สอนกว่า 500 คน เพื่อจุดประกายความคิด และให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการต่อยอดการสอน เพราะวิชาวิทยาการคำนวณจะถูกบังคับใช้ในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2561

ภายในงานสัมมนามีหลากหลายวิทยากรมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึง “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่มาฉายภาพถึงความสำคัญของวิชาวิทยาการคำนวณ ทั้งในบริบทของไทยและต่างประเทศ

“2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาอย่างมาก มีหลายประเทศที่ให้เด็กเริ่มเรียนโค้ดดิ้ง อย่างประเทศฟินแลนด์ และเอสโตเนีย ที่ให้นักเรียนเริ่มเรียนตั้งแต่ ป.1 หรือเกาหลีใต้ ที่ส่งเสริมให้เด็กทุกชั้นเรียนได้เรียนโค้ดดิ้ง รวมถึงประเทศจีนที่ให้เด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายกว่า 40 โรงเรียน ได้เรียนวิชา AI แล้ว”

“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ประเทศฟินแลนด์ต้องเจอกับความท้าทาย เมื่อโนเกียไม่มีที่ยืนในตลาดอีกต่อไป ทั้ง ๆ ที่เป็นประเทศที่มีการศึกษาดี มีเทคโนโลยีขั้นสูง แต่เมื่อโลกหมุนเร็วก็ทำให้ตัวเองปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้เขาเปลี่ยนมุมมองใหม่ และส่งเสริมให้เด็กเรียนวิชาโค้ดดิ้งตั้งแต่อายุยังน้อย”

ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งให้กับประชากร เพราะเล็งเห็นว่าโลกอนาคต คือ โลกไอที และทุกประเทศต้องก้าวไปสู่ดิจิทัล ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่คนต้องมีทักษะด้านนี้ เพื่อเข้าใจโลกรอบตัวที่อุปกรณ์เกือบทุกอย่างสามารถสั่งการได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือเป็น Internet of Things (IoT) ที่คนยุคต่อไปต้องเข้าใจ และใช้ให้เป็น

“ดร.สมเกียรติ” เอ่ยถึงประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านเทคโนโลยีอย่างประเทศเอสโตเนีย ที่เดิมเป็นเมืองขึ้นของสหภาพโซเวียต โดยหลังจากที่เป็นเอกราช ทางฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านได้เสนอการสร้างระบบการสื่อสารแบบแอนะล็อกให้ แต่ทางเอสโตเนียปฏิเสธ เพราะมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เป็นระบบดิจิทัลตั้งแต่เริ่มต้น

จากแรงผลักดันในทุก ๆ ด้าน ทำให้เกิดบริษัทสตาร์ตอัพหลายราย ซึ่งหนึ่งธุรกิจดิจิทัลที่เติบโต และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกคือ Skype นอกจากนั้น เอสโตเนียยังมีนโยบายเป็น e-Country ด้วยการรับคนต่างชาติเป็นพลเมืองออนไลน์ และมีการเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์ ขณะที่ด้านการศึกษามีการบริหารการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการดูตารางเรียน ลาเรียน ให้และส่งการบ้าน รวมถึงพ่อแม่ที่สามารถติดตามข้อมูลการเรียนได้ ซึ่งจากผลสอบวิชาวิทยาศาสตร์ของ PISA ปี 2015ปรากฏว่าเอสโตเนียได้คะแนนอันดับ 3 จาก 73 ประเทศ

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากวิสัยทัศน์ของ Toomas Hendrik Ilves ประธานาธิบดีเอสโตเนีย ที่มีความเชื่อว่า โลกอนาคตคือดิจิทัล และทักษะที่ต้องมีคือโค้ดดิ้ง โดยเขามีวิสัยทัศน์การเรียนรู้ตลอดชีวิต 2020 ซึ่งมองว่าหากทุกคนเรียนภาษาต่างประเทศได้ ก็สามารถเรียนภาษาโปรแกรมและโค้ดดิ้งได้เช่นกัน เพราะถือว่าเป็นอีกหนึ่งภาษาต่างชาติ และหากใครเขียนโปรแกรมได้ดี จะไม่มีปัญหาต่อการทำงานในอนาคต”

แผนงานจากวิสัยทัศน์ดังกล่าวคือ tiger project ให้โรงเรียนต่าง ๆ ส่งเสริมให้เด็กเรียนโค้ดดิ้ง เริ่มต้นจากโรงเรียนนำร่อง 20 แห่ง ปัจจุบันมีกว่า 440 โรงเรียนที่ดำเนินการสอน จากโรงเรียนทั่วประเทศที่มีกว่า 500 แห่ง ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนจะเน้นการเขียนโปรแกรมผ่านภาษาภาพ และให้ทำงานเป็นทีม อย่างการร่วมกันประกอบหุ่นยนต์ พร้อมทั้งให้เด็กฝึกคิดแก้ปัญหาจากโจทย์จริง เช่น ให้คิดแอปพลิเคชั่นที่สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุได้ โดยโรงเรียนนำวิชาโค้ดดิ้งไปบูรณาการในวิชาต่าง ๆ ไม่ได้แยกออกมาเป็นวิชาเฉพาะ

นอกจากนี้ รัฐบาลมีการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และมีมูลนิธิสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้มาช่วยอบรมครู และจัดหาสื่อการสอนให้โรงเรียนที่ขาดแคลน พร้อมทั้งสนับสนุนกิจกรรมนอกห้องเรียน ขณะเดียวกันมีการสร้างเครือข่ายครูที่ทดลองการสอนแบบต่าง ๆ และแลกเปลี่ยนแนวทางสอนที่ดีระหว่างกัน

ทั้งนั้น เมื่อย้อนกลับมามองยังประเทศไทย “ดร.สมเกียรติ” กล่าวถึงความพร้อมของเด็กไทยว่า หากอิงข้อมูลจาก OECD มีการระบุว่า เด็กไทย 36% ไม่ผ่านเกณฑ์ด้านการอ่าน, คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ยังมีเครือข่ายจำนวนหนึ่งพยายามพัฒนาการเรียนการสอนสมัยใหม่ให้กับโรงเรียน

“เพื่อก้าวไปสู่การเรียนการสอนที่ดีขึ้น และสร้างเด็กให้มีทักษะดิจิทัล โรงเรียนที่มีเงินพอสามารถซื้อสื่อการสอนเข้าโรงเรียนได้ แต่โรงเรียนยากจนนั้น ผมอยากบอกว่าการเรียนวิชาวิทยาการคำนวณสำคัญที่ไอเดีย ไม่ใช่อุปกรณ์ หรือซอฟต์แวร์ ยกตัวอย่างการสอนให้เด็กเข้าใจขั้นตอนการทำงาน ซึ่งเปรียบเหมือนอัลกอริทึม ครูสามารถสอนโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ โดยนำสถานการณ์ต่าง ๆ ใกล้ตัวมาเป็นโจทย์ให้เด็กได้ฝึกคิดเป็นระบบ”

“ดร.สมเกียรติ” เน้นย้ำว่า วิชาวิทยาการคำนวณจะเปิดโลกใหม่ให้กับประเทศไทย เพราะด้วยบทบาทของวิชานี้จะช่วยเสริมให้เด็กมีจินตนาการ และสามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนวิชาวิทยาการคำนวณ หากโรงเรียนมีความตั้งใจจริง ก็สามารถจับคู่พาร์ตเนอร์กับองค์กรต่าง ๆ ในการเข้าไปร่วมจัดการเรียนการสอนได้