ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ถอนถอน “ชัยเลิศ พิชิตพรชัย” พ้นจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชแล้ว
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 142 ตอนพิเศษ 2 ง เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2568 เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องถอดถอนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชพ้นจากตำแหน่ง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายชัยเลิศ พิชิตพรชัย ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2556 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี และครบกำหนดตามวาระในวันที่ 30 มกราคม 2560 นั้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 (6) และมาตรา 20 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2521 ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ครั้งที่ 9/2559 (นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 ได้มีมติให้ถอดถอนนายชัยเลิศ พิชิตพรชัย ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2559
แต่โดยที่ได้มีกรณีฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่มีมติให้ถอดถอนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชออกจากตำแหน่ง ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง
และที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (วาระลับ) ครั้งที่ 5/2567 (นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งต่อไป ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถอดถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งแล้ว
บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ถอดถอน นายชัยเลิศ พิชิตพรชัย พ้นจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2559
ชี้เหตุถูกถอดถอน
มติชนออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า นายชัยเลิศถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สืบเนื่องมาจากใช้เวลาในตำแหน่งหน้าที่อธิการบดี สอนหนังสือและควบคุมการสอนนักศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในปีการศึกษา 2557 จำนวน 15 ชั่วโมง 30 นาที และในปี 2558 จำนวน 13 ชั่วโมง
พฤติการณ์ของนายชัยเลิศไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้รับการอนุญาต และกรณีการเข้าศึกษาหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่น 58 โดยไม่รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เวลานั้นเห็นว่า การปฏิบัติราชการของนายชัยเลิศมีความเสียหายที่กระทบต่อ มสธ.ในประการอื่น ๆ ได้แก่ การไม่ปฏิบัติตามคำมั่นและการไม่สามารถดำเนินการตามคำมั่นในการแก้ไขปัญหา มสธ. อาจทำให้ มสธ.ได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ พฤติการณ์การกระทำของนายชัยเลิศยังไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายและเงื่อนไขการยืมตัวในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มาดำรงตำแหน่งอธิการบดี มสธ. ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา เป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2556 จนถึงวันที่ 30 มกราคม 2560 ถือเป็นความบกพร่องในการบริหารงานตามพระราชบัญญัติ มสธ. ไม่เป็นการอุทิศเวลาให้กับงานในหน้าที่อธิการบดีได้เต็มที่ตามข้อบังคับ และไม่สามารถบริหารงานตามพันธะสัญญาที่ได้เสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
ต่อมานายชัยเลิศได้ยื่นฟ้องสภามหาวิทยาลัย และนายกสภา ต่อศาลปกครองกลาง อ้างว่าการถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และคืนตำแหน่งอธิการบดีให้ตามเดิม และขอให้ศาลทุเลาการบังคับตามคำสั่งสภามหาวิทยาลัยได้ถอดถอนตำแหน่งอธิการบดีไว้ก่อน และขอให้ระงับการสรรหาอธิการบดีไว้ก่อน
ศาลปกครองกลางยกคำขอของนายชัยเลิศที่ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับ และมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งสภามหาวิทยาลัยที่ 9/2559 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2559 ที่ถอดถอนอธิการบดีออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระสภามหาวิทยาลัย ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา
กระทั่ง 4 เมษายน 2567 ศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อบ. 338/2562 คดีแดงหมายเลขแดงที่ อบ. 46/2567 มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกฟ้อง ให้เหตุผลว่า จากการพิจารณาจากสรุปข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ความเห็นของคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง และคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของ รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ ตามคำสั่งของสภา มสธ. และนายกสภา รวมถึงข้อชี้แจงของ รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเห็นว่า คำชี้แจงของผู้ฟ้องคดีไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างข้อกล่าวหาของคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง และคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ มติให้ถอดถอนเป็นไปตามขั้นตอนโดยชอบตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว