กสศ.แนะ 2 แนวทางสร้างโอกาส-อนาคต ลดเหลื่อมล้ำการศึกษา

กสศ.ฉายภาพสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2567 พร้อมเสนอ 2 นโยบายลดปัญหา สร้างโอกาสและอนาคตสำหรับเด็กและเยาวชนไทยทั้งในและนอกระบบการศึกษา พร้อมแนะแนวทางยกระดับการทดสอบ ONET ปิดจบด้วยตัวเลขต้นทุนทางสังคมที่แทบจะมากกว่าค่า GDP ของประเทศ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงาน Equity Forum 2025 “ประเทศไทยกับการแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” โดยเปิดรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2567 และทิศทางสำคัญในปี 2568

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2567 ว่า มีนักเรียนในระดับก่อนประถมศึกษาและการศึกษาภาคบังคับจำนวน 3 ล้านคนจากทั้งหมด 8.5 ล้านคน ที่อยู่ในครัวเรือนภายใต้เส้นความยากจน

โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุด อันดับ 1 แม่ฮ่องสอน อันดับ 2 นราธิวาส และที่เหลือพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นเป็น 1,133 บาท/คน/เดือน เฉลี่ยวันละ 37 บาท เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีรายได้เฉลี่ยคนละ 1,039 บาท/คน/เดือน เฉลี่ยวันละ 34 บาท

ซึ่งจากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนทั่วประเทศมากกว่า 400,000 คน พบสถานการณ์ความเปราะบางของครัวเรือนยากจนพิเศษในหลายมิติ อาทิ

ADVERTISMENT
  • นักเรียนยากจนพิเศษกว่า 38.77% ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่อพยพย้ายถิ่นไปทำงานในเมือง
  • ครอบครัวแหว่งกลาง และยังพบว่าสมาชิกในครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นผู้มีภาวะพึ่งพิง อาทิ มีผู้สูงอายุ 44.43% มีคนว่างงาน 27.3% และมีคนพิการเจ็บป่วยเรื้อรัง 12.41%

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กเยาวชนกลุ่มเหล่านี้ กสศ.ได้จัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาคให้แก่นักเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 1.3 ล้านคนอย่างต่อเนื่อง 3 ปี

โดยมีการติดตามการเข้าเรียน และพัฒนาการรายบุคคลอย่างใกล้ชิด ซึ่งผลลัพธ์ของโครงการ คือ อัตราการคงอยู่ในระบบการศึกษาอยู่ที่ 97.88% อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างสำคัญในเส้นทางการศึกษาของนักเรียนกลุ่มนี้ ได้แก่

ADVERTISMENT

1. ปี 2567 มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ 22,345 คนหรือเพียง 13.49% จากทั้งหมด 165,585 คน ที่สามารถคงอยู่ในระบบการศึกษาจนสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอัตราการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาของประชากรไทยกว่า 3 เท่า

2. มีนักเรียนที่ครัวเรือนมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนอีกประมาณ 1.1 ล้านคน ยังไม่ได้รับการสนับสนุนหรือช่วยเหลือ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่หน่วยงานระดับนโยบาย หน่วยจัดสรร งบประมาณ และหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา ควรร่วมกันพัฒนามาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงวัยสำคัญ

3. นอกจากการช่วยเหลือด้านทางเศรษฐกิจแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตที่มีความท้าทาย เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการคงอยู่ในระบบการศึกษา

จากการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบสารสนเทศของสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการกับสำนักทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทย พบว่า สถานการณ์เด็กและเยาวชนนอกในช่วงอายุ 3-18 ปี จำนวน 982,304 คน ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีอยู่จำนวน 1.02 ล้านคน

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่หน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษาสามารถนำเด็กมากกว่า 3 แสนคนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ แต่ก็ยังมีเด็กยังไม่มีชื่อในระบบตั้งแต่ปี 2566 จำนวน 590,557 คน

และมีเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษากลุ่มใหม่ 391,747 คน ในจำนวนนี้อยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 387,591 คน คิดเป็น 39.46% ของเด็กและเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษาทั้งหมด (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2567)

2 ข้อ สร้างโอกาส-อนาคต

จากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้ กสศ.เสนอนโยบาย 2 ประเด็น ได้แก่

1. สร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษาให้เด็กเยาวชน 20 ปี ผ่านการบูรณาการข้อมูลรายบุคคลระหว่าง 11 หน่วยงาน ครอบคลุมเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดของประเทศจำนวน 3 ล้านคน และเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาจำนวน 9 แสนคน (3-22 ปี) เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง และส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ

เพื่อให้ทุกกระทรวงบูรณาการขุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาวะ สังคม ครอบครัว แรงงาน และการศึกษา เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนได้รับสวัสดิการ การดูแลพัฒนา และส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเสนอเพิ่มศักยภาพของสวัสดิการแบบมุ่งเป้า เพื่อลดต้นทุนการเข้าถึงการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ

2. ยกระดับบัตรประจำตัวประชาชนของเด็กเยาวชนทุกคนให้เป็น Learning Passport สำหรับการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยรัฐสามารถจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลตรงไปยังเลข 13 หลักได้โดยตรง

โดยเฉพาะผู้อาศัยอยู่กับครัวเรือนยากจนและเปราะบาง เพื่อให้เด็กเยาวชนสามารถเลือกศึกษาต่อและเรียนรู้ผ่านการศึกษาทั้ง 3 ระบบผ่านหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งของภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชนได้อย่างยืดหยุ่นและหลากหลาย ตามความถนัดและศักยภาพแต่ละบุคคล รวมทั้งสามารถถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างระบบได้เพื่อใช้ในการศึกษาต่อ และการสมัครงานได้ในอนาคต

เทียบ PISA กับ ONET

ด้าน รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงงานวิจัยที่ร่วมมือกับ กสศ. และ OECD ที่ประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากลเพื่อการพัฒนาสถานศึกษา หรือ PISA for Schools สำรวจ และประเมินสมรรถนะแบบ PISA ในสถานศึกษา 150 แห่ง จาก 16 จังหวัด

มีข้อค้นพบที่สำคัญคือ นักเรียนที่มีระดับคะแนนผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในระดับชั้น ป.6 ที่ดี จะมีแนวโน้มที่จะมีคะแนน สมรรถนะของ PISA สูงเช่นเดียวกัน ดังนั้นความเหลื่อมล้ำในผลลัพธ์พบจากการทดสอบ PISA ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แต่แท้จริงแล้วเป็นการขาดทุนที่สะสมมาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาหรือปฐมวัย

เพราะฉะนั้นการส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีคะแนน PISA ที่ดีขึ้นในอนาคต จึงควรเริ่มต้นจากมาตรการยกระดับคุณภาพการศึกษาที่เสมอภาคตั้งแต่การศึกษาระดับประถมศึกษา และอาศัยเครื่องมือประเมินผลอย่าง O-NET ในการลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างสถานศึกษาในระยะยาว

ลงทุนกับการศึกษาคุ้มค่าแค่ไหน

จูสตีน ซาส หัวหน้าฝ่ายการศึกษาเพื่อความครอบคลุมและความเท่าเทียมทางเพศ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก ณ กรุงปารีส กล่าวผ่านวิดีโอว่า หากเราไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาภายในปี 2573 ต้นทุนทางสังคมของเด็กที่ออกจากโรงเรียนก่อนกำหนดจะอยู่ที่ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 202 ล้านล้านบาท ขณะที่เด็กที่มีทักษะต่ำกว่าพื้นฐานจะอยู่ที่ 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งตัวเลขเหล่านี้มีมูลค่ามหาศาล มากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายปีของฝรั่งเศสและญี่ปุ่นรวมกัน

“การลงทุนในการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นกลยุทธ์ที่คุ้มค่าที่สุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เพียงแค่ลดสัดส่วนของเด็กที่ออกจากโรงเรียนก่อนกำหนด รวมถึงลดสัดส่วนของเด็กที่มีทักษะต่ำกว่าพื้นฐานลงเพียง 10% เราจะสามารถเพิ่ม GDP แต่ละปีได้ถึง 1-2%” จูสตีนกล่าว