
กระทรวงศึกษาธิการ เผยข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ภาคบังคับ อายุ 6-15 ปี มีจำนวน 1,025,514 คน พร้อมเสนอแนวทางการเตรียมความพร้อมการทดสอบ ปิซ่า 2568 ทั้งหมด 4 กระบวนการ ได้แก่ สร้างแรงจูงใจ, สร้างทักษะ, ตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน และ ระบบสนับสนุน
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือ ศธ. เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 ถึงผลการดำเนินงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ หรือ Thailand Zero Dropout โดยพบว่าข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ภาคบังคับ (6-15 ปี) มีจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษา 1,025,514 คน
โดยสามารถติดตามได้แล้ว 976,123 คน สามารถนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ถึง 321,765 คน และยังไม่ได้ติดตามอีก 49,391 คน โดยจากการรายงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สามารถติดตามเด็กได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้วกว่า 40 จังหวัด
ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียง 9 จังหวัดที่อยู่ใน 25 จังหวัดโครงการนำร่องของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แสดงให้เห็นว่าการนำร่องไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการติดตามเด็กที่หลุดออกจากระบบปัจจัยหลักที่ทำให้สามารถติดตามเด็กคือความร่วมมือร่วมใจของชาว ศธ.
โดยเฉพาะทางกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) และ สพฐ. ที่มีโครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง ซึ่งถือว่าได้ผลเป็นอย่างมาก โดยจะต่อยอดเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและคาดว่าเด็กที่หลุดออกนอกระบบจะมีจำนวนน้อยลง
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อด้วยว่า ทั้งนี้ในปีหน้าหน้าที่การติดตามเด็กจะไปอยู่กับฝ่ายปกครองในหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อลดภาระให้ครูทำหน้าที่หลักในการสอนเพียงอย่างเดียว ซึ่งการลงพื้นที่ของ ศธ. ทำให้ทราบถึงปัจจัยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จนมีข้อมูลเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือเด็กได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ มท.อีกด้วยเพื่อให้เกิดการทำงานในเชิงบูรณาการร่วมกันมากขึ้น
นอกจากนี้ในส่วนของการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ได้มอบสถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) ไปจัดทำข้อมูลการสอบโอเน็ตของปี 2568 ซึ่งพบว่า มีนักเรียนสมัครใจเข้าทดสอบโอเน็ตมากขึ้นเป็นจำนวนประมาณ 1 หมื่นคน อีกทั้งยังพบยอดนักเรียนที่แจ้งสมัครสอบแล้วแต่ไม่มาเข้าทดสอบลดลงกว่าปีที่ผ่านมาด้วย เชื่อมั่นว่าผลคะแนนทดสอบโอเน็ตจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา
4 แผนเตรียมพร้อมสอบปิซ่า
ที่ประชุมได้ติดตามโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาตามโครงการประเมินนักเรียนระดับนานาชาติ หรือปิซ่า โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานความก้าวหน้าการอบรมสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในระดับเขตพื้นที่ จำนวน 245 เขตพื้นที่ 78 ห้องเรียน
มีกลุ่มเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 445,624 คน ลงทะเบียนแล้วจำนวน 239,098 คน อบรมแล้วเสร็จ จำนวน 147,794 คน รวมไปถึงจะมีการนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ ไปใช้ในห้องเรียน และวางแผนจัดทำชุดพัฒนาความฉลาดรู้สำหรับนักเรียน มัธยมศึกษาปีที่ 4 เพื่อสอนเสริมเพิ่มพูนในรูปแบบของโครงการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime
ขณะเดียวกันเตรียมจัด Computer Summer Camp 2025 ส่งเสริมการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้รูปแบบ Anywhere Anytime ช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2568 ทั้งนี้จากตัวเลขผู้เข้ารับการอบรมสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ กว่า 1.4 แสนคน โดยได้สั่งการให้มีการติดตามว่าผู้เข้าอบรมได้นำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการออกข้อสอบและส่งต่อให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนของตนเองเพิ่มหรือไม่
ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้นำเสนอปัญหาของการเตรียมตัวสอบปิซ่า ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากทรัพยากรที่จำกัด โดยนำเสนอแนวทางการเตรียมความพร้อมการทดสอบปิซ่า 2568 ทั้งหมด 4 กระบวนการ
- สร้างแรงจูงใจแก่นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ให้เห็นถึงความสำคัญของการสอบปิซ่า
- สร้างทักษะให้เด็กกลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสทดลองข้อสอบและครูสามารถออกข้อสอบแนวปิซ่าได้ โดยจัดทำแอปพลิเคชั่นโดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอเข้ามาช่วย ซึ่งมีแผนพัฒนาเอไอในช่วงเดือนเมษายนนี้ ก่อนนำไปใช้ทดสอบกับกลุ่มผู้ใช้จริงในเดือนมิถุนายน
- โครงสร้างพื้นฐาน โดยมีการตรวจเช็กความพร้อมของอุปกรณ์สอบปิซ่า
- ระบบสนับสนุน โดยสร้างความรู้ความเข้าใจให้หน่วยงานในระดับบริหารเห็นความสำคัญ