SPU ส่ง “หลักสูตรดิจิทัลซัพพลายเชน-AI” ตอบโจทย์ Cold Chain ดาวรุ่งอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

SPU ชู “หลักสูตรดิจิทัลซัพพลายเชนและ AI” เน้นสร้างคนตอบโจทย์อุตสาหกรรม Cold Chain ที่โตแรงด้วยมูลค่าตลาดกว่า 1,122 พันล้านดอลลาร์ในปี 2033 พร้อมอัตราเติบโต 14.2% หวังดันไทยลดต้นทุนโลจิสติกส์ 1 แสนล้านต่อปี 

ผศ.ดร.ธรินี มณีศรี คณบดีวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรม Cold Chain Logistics หรือการจัดการขนส่งและจัดเก็บสินค้าที่ควบคุมอุณหภูมิ กำลังกลายเป็น “ดาวรุ่ง” ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชนทั่วโลก ด้วยตัวเลขการเติบโตที่โดดเด่นและศักยภาพที่น่าจับตามอง

โดย market.us คาดการณ์ว่าตลาด Cold Chain ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 1,122  พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2033 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยทบต้นต่อปี (CAGR) สูงถึง 14.2% นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าเน่าเสียง่าย อาหารแปรรูป และเวชภัณฑ์ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันตลาดนี้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ประเทศไทยมีปัจจัยบวกและความได้เปรียบ ด้วยจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ Cold Chain Logistics มีศักยภาพในการแข่งขันสูงในระดับโลก 3 ด้านได้แก่

ด้านที่ 1 ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบทบาทเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและตลาดโลกได้สะดวก

ADVERTISMENT

ด้านที่ 2 ความโดดเด่นในอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ในปี 2565 การส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูปของไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ด้วยประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและขึ้นชื่อว่าเป็นครัวของโลก

และด้านที่ 3 นโยบายภาครัฐที่สนับสนุนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ รัฐบาลตั้งเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “Trading Nation” และเพิ่มอันดับ Logistics Performance Index (LPI) ของประเทศจากอันดับที่ 34 ของโลกในปี 2023 สู่อันดับ 25 ภายในปี 2027

ADVERTISMENT

ความท้าทาย 4 ด้านของไทย

  1. ต้นทุนการดำเนินงานที่สูง การลงทุนในระบบ Cold Chain เช่น คลังสินค้าเย็น และยานพาหนะควบคุมอุณหภูมิ ยังคงมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs
  2. การสูญเสียสินค้าในซัพพลายเชน มีการสูญเสียอาหารหลังการเก็บเกี่ยวสูงกว่า 30% โดยเฉพาะผลไม้และผักที่มีอัตราสูญเสียถึง 20-50%
  3. ขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทาง ผู้เชี่ยวชาญด้าน Cold Chain Logistics ยังคงมีจำกัด ทำให้การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ไม่ได้เต็มศักยภาพ
  4. การปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่เข้มงวด มาตรฐาน GDP (Good Distribution Practice) และ GSP (Good Storage Practice) เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ การพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ด้าน Cold Chain Logistics จึงเป็นหัวใจสำคัญช่วยสร้างศักยภาพด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ยั่งยืนให้กับประเทศ

ปัจจุบันอาชีพนักจัดการ โลจิสติกส์สำหรับสินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ Cold Chain เป็นอีกหนึ่งอาชีพขาดแคลนและต้องการเร่งด่วน วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ได้พัฒนา หลักสูตรดิจิทัลซัพพลายเชนและ AI ที่ตอบโจทย์เทรนด์โลจิสติกส์ปี 2025

เน้นการเรียนรู้เทคโนโลยี AI และ IOT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและลดการสูญเสียในระบบ Cold Chain การพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดการโซ่อุปทานอัจฉริยะ หลักสูตรระยะสั้น (Nondegree) เช่น การจัดการโซ่อุปทานดิจิทัล (Digital Supply Chain Management) และการจัดการโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain Management)

ครอบคลุมการสร้างคนรุ่นใหม่ในหลักสูตรปริญญาตรี และการเพิ่มความรู้และทักษะใหม่ให้กับคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมได้พัฒนาความรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ด้วยการฝึกปฏิบัติจริงร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร เช่น สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย

ผศ.ดร.ธรินีกล่าวทิ้งท้ายว่า หากประเทศไทยสามารถพัฒนาความพร้อมด้านบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานได้สำเร็จ จะสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ลง 1% ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมทั้งเพิ่มความน่าเชื่อถือในตลาดโลก ด้วยมาตรฐานสินค้าและบริการที่สูงขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสให้ SMEs ไทย เข้าถึงตลาดโลกด้วยต้นทุนที่ต่ำลง และสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ยั่งยืนในภาพรวม

“Cold Chain Logistics ไม่เพียงแต่เป็นดาวรุ่งของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยในยุคดิจิทัลให้เติบโตอย่างยั่งยืน”