
กระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงกรณีคำสั่งศาลปกครอง ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับเก่า ชี้ปรับระเบียบทรงผมแล้ว ย้ำเปิดเสรี ไม่ปิดกั้น
กรณีศาลปกครองสูงสุด เผยแพร่คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ฟร.24/2563 เพิกถอนกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ซึ่งเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียนนั้น
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า คำพิพากษาเรื่องดังกล่าวเป็นกฎกระทรวงฉบับเก่าตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งขณะนี้ศธ.ได้ปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ตามข้อร้องเรียนของกลุ่มนักเรียนใหม่แล้ว โดยเปิดเสรีทรงผมนักเรียน และไม่ปิดกั้นการไว้ผมยาวหรือผมสั้นของนักเรียน แต่ต้องมีความเหมาะสมแต่งทรงผมให้สวยงาม
โดยในส่วนของการลงโทษนักเรียนเรื่องทรงผมนั้น ตนขอกำชับไปยังครูและผู้บริหารทุกคนว่า ต้องไม่มีการลงโทษเกินกว่าเหตุจนทำให้เด็กรู้สึกอับอาย เพราะการลงโทษได้ระบุไว้ในกฎหมายชัดเจน คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนประพฤติ ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
นายสิริพงษ์ อังคเกียรติสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นในปี 2563 ที่แบ่งเป็นสองประเด็นด้วยกัน คือ 1.ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ซึ่งกำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับการไว้ทรงผมและการใช้เครื่องสำอางของนักเรียนที่ออกมาในปี พ.ศ. 2518 และ 2.ประกาศกระทรวงเรื่องพฤติกรรมนักเรียนที่ยึดโยงกับประกาศของคณะปฏิวัติเป็นหลัก
ซึ่งข้อพิพาทดังกล่าวในอดีตมีการกล่าวถึงเรื่องของการให้อำนาจสถานศึกษาในการพิจารณาทรงผมของนักเรียน แต่บางสถานศึกษาอาจจะยังนำประกาศของคณะปฏิวัติมาใช้ในการกำหนดระเบียบทรงผมนักเรียน และการกระทำอาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิของนักเรียน ศาลปกครองจึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งของคณะปฏิวัติ
“เมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว ก็ถือว่าต่อไปนี้จะไม่มีการกำหนดทรงผมนักเรียน ซึ่งในส่วนของ ศธ.ได้ยกเลิกระเบียบทรงผมไปตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2566 แล้ว ส่วนการบังคับใช้คำสั่งศาลที่เกิดขึ้นในวันนี้ (5 มีนาคม) ก็จะถือว่าทรงผมนักเรียนจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมนักเรียน นอกจากนี้คำพิพากษาของศาลปกครองยังทำให้เห็นว่าการกระทำใด ๆ ที่ล่วงละเมิดต่อสิทธิเด็กนั้นจะไม่สามารถกระทำได้อย่างแน่นอน เช่น การบังคับกล้อนผม เป็นต้น” นายสิริพงษ์กล่าว
นายสิริพงษ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของ ศธ.ก็ต้องขอย้ำว่าแม้จะให้อำนาจสถานศึกษาในการพิจารณาทรงผมของนักเรียน สถานศึกษาเองก็ไม่สามารถตัดสินใจได้เพียงลำพังเพราะต้องมีการหารือกับตัวแทนผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และในกรณีที่พบนักเรียนไม่ทำตามระเบียบที่สถานศึกษากำหนด สถานศึกษาทำได้เพียงการพูดคุยปรับความเข้าใจกับนักเรียนเท่านั้น ไม่สามารถใช้วิธีที่ละเมิดสิทธิและกระทบต่อจิตใจเด็กได้
“ในส่วนของ ศธ.ได้มีการให้ฝ่ายกฏหมายตรวจสอบคำพิพากษาศาลฉบับเต็มเพื่อตรวจสอบรายละเอียดและปรับกฏกระทรวงให้เป็นไปตามคำพิพากษาหากมีส่วนที่ต้องปรับ แต่เบื้องต้นเท่าที่ดูจากคำพิพากษาฉบับย่อยังไม่มีส่วนไหนที่จะต้องปรับ รวมถึงขอให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบ ด้วยว่า การยกเลิกประกาศคำสั่งคณะปฏิวัติ จะมีผลกระทบไปถึงส่วนใด นอกจากเรื่องทรงผมอีกบ้าง“ นายสิริพงษ์กล่าว