ปิดฉากทรงผมนักเรียนไทย 53 ปี ‘ทรงติ่งหู-ขาวสามด้าน’ จ่อสูญพันธุ์

ย้อนที่มาทรงผมนักเรียนไทยกับภาพจำตัดสั้นมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ? ไล่ไทม์ไลน์การเปลี่ยนแปลงของระเบียบ มาถึงวันที่ศาลปกครองสูงสุดประกาศคำประกาศิต โรงเรียนไม่สามารถลงโทษเด็กไว้ผมได้ตามอำเภอใจ

เสรีภาพเป็นหนึ่งสิ่งที่คนเราไม่จำเป็นจะต้องเรียกร้องจากใคร เมื่อเกิดมาแล้วก็ควรที่จะได้ดำเนินชีวิตไปตามความต้องการ เว้นแต่การอยู่ร่วมกันของสังคมที่ต้องอาศัยอยู่ภายใต้กฎระเบียบ และคำนึงถึงผู้ที่อยู่ร่วมกัน แนวคิดนี้คล้ายจะสอดคล้องกับกฎระเบียบบางข้อของสังคมที่ต้องการให้เราเดินซ้ายและเดินขวาได้อย่างพร้อมเพรียง

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน แนวคิดและวิธีการใช้ข้อบังคับที่มีอยู่มานานไม่อาจสามารถจัดระเบียบได้ดังเดิม การเปลี่ยนกฎและข้อบังคับจึงเป็นทางแก้ให้สังคมเป็นไปอย่างสงบสุข เช่นเดียวกับการ “ยกเลิกทรงผมนักเรียน” ที่ถูกเรียกร้องและพูดถึงมาอย่างยาวนาน และดูเหมือนว่าทุกวันนี้กฎกำลังถูกปรับให้เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน

ย้อนกลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามบทความว่าด้วยเรื่องกฎทรงผมของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักเขียน และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ชาวไทยในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 ระบุว่า ไทยรับทรงผมนักเรียนและเครื่องแบบต่าง ๆ มาจากประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงเดียวกันที่เหาระบาด ทำให้ประชาชนในช่วงนั้นนิยมตัดผมสั้น

ต่อมาในปี 2515 ก็มีทรงผมนักเรียนเริ่มต้นขึ้นภายใต้รัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2515 ระบุว่า “นักเรียนชายไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน 5 เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดเครา ส่วนนักเรียนหญิงตัดสั้นหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็รวบให้เรียบร้อย”

ให้หลังสามปี กฎกระทรวงก็เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2518 ระบุแก้ไขว่า “นักเรียนชายตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผมหรือไว้หนวด ไว้เครา และนักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย

ADVERTISMENT

ดังนั้น โรงเรียนต่าง ๆ จึงอาจมีระเบียบในเรื่องทรงผมที่แตกต่างกันได้ในรายละเอียด แต่ส่วนใหญ่นักเรียนชายมักจะให้ตัดผมสั้นเกรียน และนักเรียนหญิงมักจะให้ตัดผมสั้นในช่วงติ่งหูถึงปกเสื้อนักเรียน”

การเมืองปลุกระดมเสรีภาพ

ผ่านมา 50 ปี ในช่วงที่การเมืองก้าวเข้าสู่กระบวนการปลุกระดมทางความคิด เช่นเดียวกับเสียงเรียกร้องของนักเรียน ทำให้ในปี 2563 กระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียนลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 2 พฤษภาคม ในปีเดียวกัน โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนมีอิสระในการเลือกไว้ทรงผมมากขึ้น

ADVERTISMENT

ใจความว่า “นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ ไว้ยาวตามความเหมาะสม และรวบให้เรียบร้อย ห้าม ดัดผม ย้อมสีผม ไว้หนวดเครา ห้ามตัดแต่งทรงผมเป็นรูปทรงหรือสัญลักษณ์”

ต่อมาปี 2566 กระทรวงศึกษาธิการมีการกำหนดแนวทางการไว้ทรงผมของนักเรียนไว้กว้าง ๆ เพื่อให้สถานศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการนำไปปรับใช้ประจำแต่ละสถานศึกษา ระบุว่า “นักเรียนหญิง และนักเรียนชาย สามารถไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของสถานศึกษา”

และล่าสุดในปี 2568 ภายหลังประกาศศาลปกครองสูงสุด เผยแพร่คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ฟร.24/2563 เพิกถอนกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ข้อกำหนดเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน ทำให้เรื่องการยกเลิกทรงผมของนักเรียนไทยกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง

ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ประกาศนี้ถือเป็นคำประกาศิตว่า โรงเรียนไม่สามารถลงโทษนักเรียนที่ไว้ผมยาวได้ด้วยวิธีปฏิบัติที่ทำให้เกิดความอับอาย และส่งผลต่อความรู้สึก แม้ว่าโรงเรียนจะมีอำนาจในการกำหนดทรงผมตาม พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ. 2546 มาตรา 39 (1) แต่จะต้องกำหนดตาม ‘กระบวนการมีส่วนร่วม’ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียน

ซึ่งหากนักเรียนไม่ทำตาม โรงเรียนก็ดำเนินการได้เพียง 4 กรณีเท่านั้นคือ 1.ว่ากล่าวตักเตือน 2.ทำทัณฑ์บน 3.หักคะแนนพฤติกรรม 4.จัดกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรม เนื่องจากกระทรวงเองไม่มีอำนาจในการกำหนดโดยตรง แต่ก็เล็งเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างการที่บุคลากรทางการศึกษากล้อนผมนักเรียน คือพฤติกรรมที่ทำเกินกว่าเหตุ และเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพเด็ก

แนวคิดเปลี่ยนหลักการ

แนวคิดที่เชื่อกันว่า “การที่เด็กจะมีพฤติกรรมดีจะต้องตัดผม” นั้นไม่ถูกเห็นด้วยอีกต่อไป สิริพงศ์กล่าวว่า วันนี้หลักการมันเปลี่ยนไป เพศสภาพก็เช่นกัน การที่มีใครสักคนมาบอกว่าการตัดผมจะส่งผลต่อการเรียน ไม่ควรเอามาเกี่ยวข้องกันอีกต่อไป และเขามองว่ามันคือสิทธิเสรีภาพบนเรือนร่างของเขา เว้นแต่กฎที่โรงเรียนกำหนดให้เข้าร่วมบางวิชาที่จำเป็นต้องมาจากความสมัครใจ อาทิ การเรียนวิชาทหาร (รด.)

นอกจากนั้น เขายังบอกว่าคนที่ดีใจมากกว่านักเรียนคงเป็นกองเชียร์ เพราะส่วนใหญ่แล้วเด็กมักจะเติบโตตามช่วงวัย จากการสำรวจโรงเรียนก็พบว่า มีนักเรียนที่ทำสีผมน้อยมากในชั้นประถมศึกษา ในขณะที่โตขึ้นมาอีกหน่อยถึงจะเริ่มลงที่ หรือทำทรงผมต่าง ๆ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

อนาคตยกเลิก ‘ชุดลูกเสือ’

ไม่ใช่เพียงทรงผมที่โรงเรียนสามารถกำหนดระเบียนการได้ สิริพงศ์กล่าวว่า ชุดนักเรียนก็เป็นอำนาจของโรงเรียนเช่นกัน ปัจจุบันนี้นักเรียนใช้ชุดนักเรียนเพียงวันเดียวเท่านั้น บางวันใส่ชุดพละ บางวันเป็นเสื้อโรงเรียน บางวันเป็นชุดลูกเสือ และวันศุกร์บางโรงเรียนก็ปล่อยฟรีให้เลือกใส่ผ้าไทย ไม่ก็ชุดอาชีพในฝัน

ขณะเดียวกัน ในปีนี้กระทรวงก็เล็งที่จะยกเลิกชุดลูกเสือในปี 2568 นี้ สิริพงศ์ขยายความว่า ในอดีตการทำกิจกรรมบางอย่างจะต้องบังคับให้นักเรียนซื้อ แต่เราอาจต้องยกเลิกและเปลี่ยนให้เป็นการซื้อ ‘อย่างสมัครใจ’ และเสนอให้โรงเรียนสามารถดีไซน์การใส่ชุดลูกเสือได้โดยไม่ต้องใช้ชุดแบบเต็มฟอร์ม

ขณะเดียวกันสำหรับชุดนักเรียน สิริพงศ์มองว่าไม่ใช่ปัญหาหรือข้อกังขาสำหรับอิสรเสรีของนักเรียน และสามารถยกเลิกได้ แต่จะต้องยกเลิกเงินอุดหนุนด้วย