
ยูโอบี ประเทศไทย ต่อยอดโครงการ UOB My Digital Space หรือ UOB MDS เปิดโอกาสให้นักเรียนขาดโอกาสพื้นที่ห่างไกลกว่า 5,000 คน ใน 8 โรงเรียนให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ปีนี้ร่วมมือกับ inskru.com หนุนครูพัฒนาทักษะ ดึงชุมชนมีส่วนร่วม มอบการศึกษาคุณภาพยั่งยืน
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ต่อยอดโครงการ UOB My Digital Space (MDS) มอบอนาคตแห่งการเรียนรู้และเปิดโอกาสให้แก่นักเรียนที่ขาดโอกาสในพื้นที่ห่างไกลกว่า 5,000 คน ใน 8 โรงเรียนให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
ปีนี้ได้ยกระดับโครงการด้วยการสนับสนุนการพัฒนาทักษะศักยภาพครู ผ่านคอมมิวนิตี้ออนไลน์ inskru.com และผลักดันความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน เพื่อสามารถมอบการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับนักเรียนได้อย่างต่อเนื่อง นับเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของยูโอบี ในการสร้างอนาคตของอาเซียนอย่างยั่งยืน
โครงการ UOB MDS มุ่งเน้นลดช่องว่างทางการศึกษาให้กับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดีผ่านช่องทางดิจิทัล พร้อมส่งเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต ด้วยความร่วมมือกับโครงการร้อยพลังการศึกษา มอบห้องเรียนรู้ดิจิทัลคอมพิวเตอร์ พร้อมเครื่องมือการเรียนรู้ดิจิทัลวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ วิชาการเงิน และการแนะแนวอาชีพ
ตลอดระยะเวลา 3 ปีของการดำเนินโครงการ UOB MDS ได้ขยายสู่ 8 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี พะเยา ลำปาง กาญจนบุรี สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น สิงห์บุรี และอุดรธานี โดย 2 โรงเรียนใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนเพิ่มปีนี้ได้แก่ โรงเรียนศรีวินิตวิทยาคม จังหวัดสิงห์บุรี และโรงเรียนพิบูลย์รักษ์พิทยา จังหวัดอุดรธานี
โครงการ UOB MDS ในประเทศไทยสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของธนาคารยูโอบีในการสนับสนุนนักเรียนที่ขาดโอกาส 20,000 คนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สามารถเข้าถึงเครื่องมือและทักษะการเรียนรู้ดิจิทัลภายในปีนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองครบรอบ 90 ปีของธนาคารยูโอบี ที่มุ่งสนับสนุนเงินทุน 30 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับโครงการด้านการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กที่ขาดโอกาสกว่า 120,000 คนทั่วภูมิภาค
ร่วมมือคอมมิวนิตี้ออนไลน์
นายริชาร์ด มาโลนี่ย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า เชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและสามารถประสบความสำเร็จได้หากได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
โครงการ UOB My Digital Space สนับสนุนเด็กในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงเทคโนโลยีซึ่งเป็นทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาพื้นฐาน ทักษะความรู้ทางการเงิน และการรู้จักตัวเองเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่อนาคต พร้อมสนับสนุนครูให้เข้าถึงเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสอน และสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างโรงเรียนและชุมชน นับเป็นความมุ่งมั่นของเราที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สอดคล้องกับความมุ่งหมายของเราในการร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
ปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงจำนวนครูไม่เหมาะสมกับภาระงาน ทำให้ครู 1 คนต้องดูแลนักเรียนหลายห้อง ดังนั้น นอกเหนือจากการมอบทรัพยากรและอุปกรณ์การเรียนการสอนดิจิทัลแล้ว โครงการยังช่วยคุณครูในโครงการเพิ่มทักษะด้านการเรียนการสอนสอดคล้องกับยุคดิจิทัล และได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านคอมมิวนิตี้ออนไลน์ inskru.com ที่มีเครือข่ายครูกว่า 100,000 คน
นางสาวกนกวรรณ โชว์ศรี ผู้อำนวยการโครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวว่า ธนาคารยูโอบีและโครงการร้อยพลังการศึกษากำลังร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ผ่านสื่อการเรียนการสอนสมัยใหม่ ซึ่งช่วยเพิ่มคะแนน O-Net และเกรดนักเรียน พร้อมลดภาระครูในการสอนหลายวิชา
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ผลลัพธ์ชัดเจนที่เราเห็นคือ นักเรียนมีความมั่นใจและสามารถเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการนี้ยังมุ่งพัฒนาศักยภาพคุณครูและเสริมสร้างความร่วมมือกับชุมชน เตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล ผ่านคอมมิวนิตี้ออนไลน์ inskru.com ที่ครูในโครงการจะได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนความรู้บนพื้นที่ออนไลน์ที่มีครูกว่า 100,000 คน
“ความร่วมมือครั้งนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมทั้งพัฒนาทักษะดิจิทัลที่จำเป็นให้กับนักเรียนและครู ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในระบบการเรียนการสอนของไทย”
ห้องเรียนรู้ดิจิทัล
ธวัลรัตน์ ธีฆะพร ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีวินิตวิทยาคม หนึ่งในโรงเรียนใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนห้องเรียนรู้ดิจิทัล UOB My Digital Space เผยว่า การได้รับการสนับสนุนจากโครงการครั้งนี้ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน เพิ่มโอกาสเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ที่หลากหลาย ขณะที่ครูสามารถแลกเปลี่ยนความรู้กับเครือข่ายทั่วประเทศ
“โรงเรียนได้รับห้องเรียนรู้ดิจิทัล ประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ 41 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์และสื่อการสอนที่ทันสมัย คณะครูได้พัฒนาการสอนเชิงสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งครูและนักเรียน เรามีแผนสานต่อโครงการอย่างยั่งยืน โดยจะใช้ทรัพยากรที่ได้รับในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง และระดมทุนจากชุมชน วัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกระยะยาวต่อการศึกษาของเด็ก ๆ ในโรงเรียน” นางธวัลรัตน์กล่าวปิดท้าย
ว่าที่ร้อยตรีจักราชัย ใจซื่อ ผู้อำนวยการโรงเรียนพิบูลย์รักษ์พิทยา กล่าวว่า การมอบห้องเรียนดิจิทัลที่มีคอมพิวเตอร์จำนวน 41 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ครบชุด และหลักสูตรดิจิทัลรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และการเงิน นับได้ว่าเป็นพลังความร่วมมือที่มีคุณค่า เพราะสามารถช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างอนาคตที่สดใสให้กับเด็กไทยอย่างยั่งยืน