เรียนรู้อยู่รอดในโลกยุค AI มูลนิธิ SCG ชู 4 แนวคิด Gen Beta

ความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับผู้ปกครองที่กำลังจะมีลูกหลาน Gen Beta (เด็กเกิดปี 2568-2582) หรือมีลูกอยู่ในกลุ่ม Gen Alpha ปลาย ๆ ซึ่งพวกเขาจะเกิดมาพร้อมใช้ชีวิตไปกับระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

มีคำถามว่า แล้วคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ควรจะเลี้ยงลูก Gen เหล่านี้อย่างไร เพื่อให้อยู่รอดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเติบโตขึ้น

ล่าสุด “มูลนิธิเอสซีจี” ชูแนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ตอกย้ำแก่นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งเป็นแนวคิดที่สำคัญสำหรับเด็กยุคใหม่ เพราะโลกอนาคตไม่ได้จบที่ปริญญา

แต่จะให้รางวัลกับคนที่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา การเตรียมพร้อมด้วยการปลูกฝังเด็ก Gen Beta ให้คุ้นชินกับ 4 แนวคิด เพื่อให้มีพฤติกรรมอยากเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะจะช่วยให้เด็กอยู่รอดและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

สร้างวินัยการเรียนรู้

World Economic Forum (WEF) สำรวจแนวโน้มตลาดแรงงานทั่วโลก ทั้งวิเคราะห์ทักษะที่จำเป็นในอนาคต และชี้ถึงผลกระทบต่อการจ้างงานเมื่อปี 2023 ว่า Gen Beta จะเป็น Gen ที่อยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วตลอดเวลา และรวดเร็ว ดังนั้น จึงต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในบ้าน

ทั้งอ่านหนังสือ เล่นเกมที่กระตุ้นใช้ความคิด ทดลองทำอะไรใหม่ ๆ รวมถึงสอนให้รู้จักความท้าทาย ความสำเร็จ และล้มเหลว ซึ่งจะช่วยฝึกทักษะที่จำเป็น ทำให้เด็กยุคใหม่คุ้นเคยและนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้ในชีวิต

ADVERTISMENT

ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มออนไลน์ของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ที่มีเนื้อหาให้เลือกเรียนรู้เพื่อนำไปพัฒนา Reskill, Upskill และ New Skill มีหลักสูตรเรียนฟรีและหลักสูตรประกาศนียบัตรแบบ Nondegree

ปลูกฝังทักษะแห่งอนาคต

โลกปัจจุบันหลายองค์กรมองหาคนที่มีทักษะรอบด้าน โดยเฉพาะทักษะชีวิต (Soft Skills) ที่ใช้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อการปรับตัวและใช้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะทักษะชีวิตจะติดตัวเด็กไปตลอด

ADVERTISMENT

ขณะที่ทักษะวิชาชีพ หรือ Hard Skills จะมีระยะเวลาการใช้งานเมื่อเวลาผ่านไป ความรู้ความสามารถนั้นอาจตกยุค จึงต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด เมื่อนำ Hard Skills มาผนวกกับทักษะชีวิต จะทำให้ผู้นั้นมีความสามารถพิเศษในการทำงาน ทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่องค์กรต่าง ๆ ใช้พิจารณาในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน

มูลนิธิเอสซีจีได้จัดทำวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในเรื่องทักษะที่องค์กรต้องการ พบว่าทักษะชีวิตถือว่ามีความสำคัญมาก มี Skill Set อยู่ในกลุ่ม 3C คือ “ทักษะด้านการสื่อสารและภาษา” Communication & Language Skills เป็นทักษะที่ระบุไว้ในการรับสมัครงานทุกสาขามากที่สุด

เพราะช่วยในด้านการทำงานและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ทักษะการสื่อสารที่สั้น ตรงประเด็น, ทักษะการรับฟังอย่างตั้งใจ, ทักษะการแสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมา, ทักษะการสื่อสารด้วยวาจา, ทักษะการสื่อสารด้วยภาษากาย, ทักษะการเล่าเรื่อง และทักษะด้านการปรับตัว

“ทักษะด้านการทำงานร่วมกัน” Collaboration Skills ก็จำเป็นในการสร้างความสำเร็จขององค์กรและบุคคล ช่วยให้เกิดความร่วมมือ แบ่งปันความรู้ และพัฒนาในทุกระดับ ได้แก่ ทักษะการรับฟังอย่างตั้งใจ, ทักษะการให้และรับความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และทักษะด้านการสร้างความเท่าเทียม ซึ่งช่วยให้ได้รับโอกาส แม้จะมีพื้นฐานที่ต่างกัน

เช่น ความเห็นอกเห็นใจ, ความเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลาย, การตระหนักรู้หรือละอคติที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว, ทักษะความสามารถในการใช้คำพูดที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสาร และทักษะความสามารถในการเขียนที่ชัดเจน

รวมถึง “ทักษะด้านการคิดอย่างสร้างสรรค์” Creative Thinking Skills จะช่วยให้คนและองค์กรปรับตัวเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว ทำให้องค์กรแข่งขันได้ในยุคที่ท้าทาย

คนที่มีทักษะด้านนี้จะมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับองค์กรได้ดี ได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหา, ทักษะการเขียนอย่างสร้างสรรค์, ทักษะการเปิดใจยอมรับมุมมองที่แตกต่าง, ทักษะการวิเคราะห์ และทักษะการรับฟัง ต้องย้ำว่า “รับฟังอย่างตั้งใจ”

การฝึกฝน Soft Skills ในเรื่องดังกล่าวอาจไม่เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก จึงควรปลูกฝังทักษะชีวิตสำหรับโลกอนาคตให้กับเด็ก ๆ ทั้ง 2 Gen ตั้งแต่ตอนนี้ ซึ่งเป็นทักษะที่ AI ยังทำไม่ได้

เพื่อชี้ให้เห็นถึงทักษะที่ทำให้มนุษย์ยังคงอยู่เหนือ AI เช่น ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์, ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์, ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล, ทักษะการปรับตัวและยืดหยุ่น และทักษะการเป็นผู้นำที่ดีต่อสังคม

ใช้ AI เสริม Hard Skills

เพราะ Gen Beta เติบโตมาในยุคที่ AI แวดล้อมอยู่รอบตัว ผู้ปกครองจึงควรสอนให้ลูก ๆ Gen นี้คุ้นเคยกับการทำงานร่วมกับ AI ที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้พวกเขาทำงานได้ดีและเร็ว มีประสิทธิภาพ งานที่ออกมามีความสมบูรณ์

ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับ WEF จัดทำรายงาน The Future of Jobs 2025 ชี้ให้เห็นถึงทักษะที่กล่าวมา กับความต้องการแรงงานในตลาด และความต้องการทักษะจากบุคลากรที่จะสร้างมนุษย์แห่งอนาคตที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยี ทั้ง AI, Big Data, Fintech, Machine Learning ผสานกับทักษะชีวิตคิดเชิงวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ ฯลฯ

ตลาดแรงงานในไทยจึงต้องปรับโครงสร้างและรูปแบบการทำงานใหม่ งานที่ไม่ต้องใช้ทักษะสูง หรืองานที่ทำประจำซ้ำ ๆ ทุกวัน ควรใช้ระบบ Automation ทดแทน

ส่วนบุคลากรต้อง Upskills ชุดใหญ่ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะวิชาชีพมากขึ้น เพื่อเอื้อต่อการหมุนเวียนความรับผิดชอบในองค์กรได้ เป็นการเสริมสร้างทักษะการพัฒนาบทบาทการทำงานของบุคลากรที่ปรับเปลี่ยนได้ (Enhancing Dynamic Work Role) ซึ่งจะส่งให้องค์กรนั้น ๆ เป็น Future-Ready Organization หรือองค์กรเตรียมพร้อมตลอดเวลาสำหรับอนาคต

ปรับตัวพร้อมกับลูก

ในยุคที่โลกเปลี่ยนเร็ว วิธีการเดิม ๆ อาจไม่เหมาะ ผู้ปกครองยุคใหม่ต้องเปิดใจ ปรับตัวให้ทัน เรียนรู้พร้อมกับ Gen Beta และ Gen Alpha

การเปิดใจรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จะช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจและสนับสนุนเด็ก ๆ ได้อย่างเหมาะสม ส่งเสริมให้เติบโตอย่างมั่นใจ มีคุณภาพ และพร้อมรับมือกับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

การเลี้ยงลูกในยุค AI ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ผู้ปกครองต้องปรับบทบาทตัวเองให้เป็นโค้ชและเพื่อนร่วมทางในการเรียนรู้ของเด็ก ปลูกฝังทักษะแห่งอนาคต สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เพราะโลกใบนี้ต้องการคนที่รู้วิธีเรียนรู้ มากกว่าคนที่รู้ทุกอย่าง ซึ่งเป็นหัวใจของแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด ที่มูลนิธิเอสซีจีผลักดันและส่งเสริมเพื่อความยั่งยืน