อัพเดต หลักสูตรใหม่ปฐมวัย-ประถมต้น 4,398 โรงเรียนพร้อมใช้เปิดเทอมนี้

นักเรียนเปิดเทอม

สพฐ. ร่วมประชุม กพฐ. คืบหน้าใช้หลักสูตรใหม่ปฐมวัย-ประถมต้น เผย 4,398 โรงเรียนพร้อมใช้เปิดเทอมนี้ ด้านหลักสูตรใหม่เน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้แบบเข้าใจ คิดเป็น และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมอำนวยความสะดวกบุคลากร-โรงเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ นำไปปรับใช้ต่อไป

ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธาน กพฐ. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 4/2568 ว่า ที่ประชุมได้หารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านการศึกษาของ สพฐ. สำหรับความก้าวหน้าการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2568

สำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี และหลักสูตรการศึกษาประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-ป.3) ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงเรียนทั่วประเทศพิจารณาตนเองว่ามีความพร้อม ทั้งในด้านผู้บริหาร ผู้สอน และระบบต่าง ๆ ในโรงเรียน ได้สมัครเข้ามาเพื่อใช้หลักสูตรดังกล่าว

พบว่ามีโรงเรียนจากทุกสังกัดได้สมัครเข้ามาถึง 4,398 แห่ง และจะเริ่มใช้ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 นี้ โดยหลักสูตรนี้พัฒนาอยู่บนพื้นฐานที่ต่อยอดมาจากหลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับชั้นปฐมวัยและชั้นประถมต้น จะเน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้แบบเข้าใจและคิดเป็น และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

จากเดิมที่จัดการศึกษาให้นักเรียนตามขั้นตอนแบบตายตัว ใช้ตำราแบบเดิม ๆ เมื่อใช้แบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่นขึ้น ทางโรงเรียนจะสามารถดูเฉพาะหัวข้อ แล้วผู้บริหารกับครูร่วมกันพิจารณาเนื้อหาและวิธีการในการจัดการศึกษาให้นักเรียนในแบบที่เหมาะสมเข้ากับบริบทของโรงเรียนได้

ADVERTISMENT

พร้อมกันนี้ สพฐ. โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้เตรียมความพร้อมต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือโรงเรียน อาทิ มีการตั้งคลินิกวิชาการขึ้นมาเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับทุกโรงเรียน มีการรวบรวมครูและอาจารย์จากโรงเรียนต่าง ๆ ให้สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่าวิธีการจัดการศึกษาแบบใดที่เหมาะสม ทำแล้วประสบผลสำเร็จ เพื่อให้ครูโรงเรียนอื่น ๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในโรงเรียนของตนเองได้

“การใช้หลักสูตรใหม่นี้ เราคาดหวังว่าจะเปิดโอกาสให้นักเรียนและครูของเรา เกิดสมรรถนะที่จำเป็น มีทักษะความสามารถที่ทันสมัย ทันโลก สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล แหล่งความรู้ต่าง ๆ ที่นอกเหนือไปจากในตำราเรียนได้มากขึ้น และวิธีการวัดผลก็จะไปเน้นที่ผลสมรรถนะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนเป็นสำคัญ ทั้งในด้านความรู้ สมรรถนะ และคุณลักษณะที่จำเป็น ซึ่งจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป” ศาสตราจารย์บัณฑิต กล่าว