“สกว.-สกอ.” ตั้งพี่เลี้ยง พัฒนางานวิจัยรุ่นใหม่สู่นวัตกรรม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ปรับโฉมระบบนักวิจัยพี่เลี้ยง โดยตั้งเฮดโค้ชในทุกภูมิภาค เพื่อลดจำนวนโครงการล่าช้า และพัฒนานักวิจัยที่มีศักยภาพสู่การสร้างงานที่มีผลกระทบสูงต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งทางวิชาการในพื้นที่ สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น

“ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ” ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า การจัดให้มีระบบนักวิจัยพี่เลี้ยงเป็นกลไกในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ ซึ่งจะมีเฮดโค้ชของแต่ละกลุ่มในฐานะผู้มีวัยวุฒิและประสบการณ์ทำงานวิจัยสูงกว่า เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ เทคนิคการทำงานวิจัย ให้คำปรึกษา และแนะนำในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับการทำงานวิจัยอย่างใกล้ชิด

“โครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ผ่าน Multi Mentoring System นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ สกว.ในการต่อยอดองค์ความรู้สู่นวัตกรรมและผลกระทบที่สำคัญต่อองคาพยพของการพัฒนาประเทศ และจากนี้ไปเราจะต้องนำองค์ความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ มาผนวกกับการบริหาร การตลาด การวางแผนธุรกิจ สู่การใช้ประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง”

“ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง” ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว. กล่าวเสริมว่า นักวิจัยรุ่นใหม่มักประสบปัญหาในการทำงานวิจัยหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาระการสอน และบริการวิชาการค่อนข้างมาก จึงไม่มีเวลาทำวิจัย กอปรกับเครื่องมือไม่เพียงพอ บทความวิชาการจึงถูกปฏิเสธจากวารสารนานาชาติ เพราะขาดประสบการณ์ในการทำวิจัย

“เหตุผลดังกล่าวส่งผลให้โครงการล่าช้า และส่งผลต่อตัวชี้วัดการดำเนินงานของ สกว. ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ได้นำเสนอรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม รวมทั้งบทบาทที่จะช่วยให้กระบวนการพัฒนาสำเร็จได้จะต้องนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง”

“ระบบนักวิจัยพี่เลี้ยงจะช่วยสร้างความมั่นใจให้นักวิจัยรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการสามารถสร้างโจทย์วิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ผลิตผลงานที่มีมาตรฐานสูงและตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ตลอดจนกระตุ้นให้นักวิจัยมองเห็นแนวทางในการพัฒนานวัตกรรม และองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาของประเทศให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งมหาวิทยาลัย และนักวิจัยพี่เลี้ยงจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้งานวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้”

ADVERTISMENT

“ทั้งนี้ ทีมเฮดโค้ชที่ตั้งขึ้นจะให้คำแนะนำ กำหนดทิศทาง วางวิสัยทัศน์ และพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยพี่เลี้ยง และมหาวิทยาลัยต้นสังกัด เพื่อช่วยพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่สู่การเป็นนักวิจัยที่มีศักยภาพสูง และพัฒนาระบบการเป็นนักวิจัยพี่เลี้ยงที่ดีไปพร้อมกัน”

ขณะที่ “พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล สกอ. กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาไทยในอนาคตจะมุ่งสร้างความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เน้นความร่วมมือกับภาคประชารัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่

ADVERTISMENT

“โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งทางวิชาการ ระบบข้อมูลสารสนเทศ กลไกการจัดการ การเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น รวมถึงการวิจัยและบริการวิชาการที่เน้นใช้ประโยชน์ หรือผู้ใช้ประโยชน์อย่างชัดเจนแต่แรกที่สำคัญต้องสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยการร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม เพื่อค้นหาและสร้างความเป็นเลิศเฉพาะตัว ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการเติบโตระยะยาวอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ การพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมมีการจัดทำ (ร่าง) แผนกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมระยะ 20 ปี (2560-2575)แบ่งเป็น 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรมด้วยบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมระดับหัวรถจักร 2) พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีรองรับการผลิต บริการ สังคม และชุมชน ด้วยบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมคุณภาพสูง และ 3) เตรียมความพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ในอนาคต ด้วยการขยายฐานบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี