อนาคต ม.หอการค้าไทย ขยายฐานสู่ CLMV สร้างเถ้าแก่ดิจิทัล

อาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีเจ้าของคือหอการค้าไทย โดยเปิดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็กไทยให้มีหัวการค้ามาหลายรุ่นแล้ว ทั้งยังให้ความสำคัญกับการปรับตัวอยู่เสมอ ด้วยการเน้นสร้างเครือข่ายองค์ความรู้กับภาคธุรกิจ จนในปีนี้ ม.หอการค้าฯครบรอบวันสถาปนามหาวิทยาลัย 55 ปี พร้อมผลักดันโมเดลใหม่ที่จะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยด้วยดิจิทัล ด้วยการขยายเครือข่ายไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

“กลินท์ สารสิน” ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีนโยบายเหมือนกัน โดยพยายามสร้างองค์ความรู้ให้ทั้งสมาชิกหอการค้า ที่เป็นนักธุรกิจ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าฯให้มีมุมมองการค้ายุคใหม่แบบ 4.0 ที่เน้นนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ การที่ ม.หอการค้าไทยมีความเกี่ยวข้องกับหอการค้าไทยถือเป็นข้อได้เปรียบ เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เพราะหอการค้าฯมีเครือข่ายนักธุรกิจมากมายที่ช่วยแนะนำความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ และการให้โอกาสทั้งอาจารย์ และนักศึกษาฝึกฝนการทำงานในสถานที่จริง

“เราร่วมสร้าง ม.หอการค้าไทย ให้เป็นtrade and service university เน้นเรื่องปฏิบัติจริง ให้นักศึกษาใช้เวลาเรียนรู้นอกห้องเรียนกว่า 50% ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้ว พวกเขาสามารถทำงานได้เลย เพราะผ่านประสบการณ์การทำงานระหว่างเรียนมาแล้ว นอกจากการสร้างเครือข่ายในประเทศ เรายังไปเปิดหลักสูตร MBA ภายใต้ชื่อมหาวิทยาลัย UTCC ที่เมืองย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ ในประเทศเมียนมา

โดยมีนักศึกษาเมียนมาจบหลักสูตรไปแล้วกว่า 700 คน หลักสูตร MBA ของเราได้รับการตอบรับจากคนเมียนมาเป็นอย่างดี ทั้งยังมีแผนที่จะไปเปิด BBA ที่นั่นในปีนี้ด้วย”

“รศ.ดร.เสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการปรับตัวของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่า การเกิดขึ้นของ digital disruption เข้ามาเปลี่ยนแปลงการศึกษาในประเทศไทยค่อนข้างมาก ดังนั้นมหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องปรับตัว ส่วน ม.หอการค้าฯมุ่งเน้นการสร้างการศึกษาที่มีนวัตกรรม ประสบการณ์ การจัดการศึกษาเชิงบูรณาการให้มีแนวคิดของผู้ประกอบการ

“เราดำเนินการปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดยังคงใช้ไอแพดในการเรียนการสอน โดยเป็นระบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ (iHybrid learning system) รวมถึงห้องสมุดของเราก็เป็นห้องสมุดออนไลน์ทั้งหมด ตรงนี้จึงเป็นเครื่องมือในการที่อาจารย์จะสามารถสื่อสารกับเด็กได้อย่างรวดเร็วเราจึงส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และค้นคว้าข้อมูลทุกที่ ทุกเวลา แม้จะไม่ได้อยู่ในห้องเรียน”

“โดยใช้ iTunes U มาช่วยในการเรียนการสอน ซึ่งเป็นอุปกรณ์การเรียนที่นักศึกษาทุกคนได้รับเมื่อแรกเข้า โดยระบบนี้ส่งผลให้ในปี 2558 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้รับการยอมรับจากบริษัท แอปเปิล ในฐานะสถาบันการศึกษาที่โดดเด่นในด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับการเรียนการสอน (Apple Distinguished School) และได้ร่วมกับบริษัท แอปเปิล ตั้งศูนย์อบรม Apple Regional Training Center จัดหลักสูตรอบรม และให้คำปรึกษา เพื่อช่วยให้ครู อาจารย์ และนักการศึกษาสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับการเรียนการสอน และกับหลักสูตรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด”

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังคงเดินหน้าผลักดันพัฒนาการศึกษาของไทยในศตวรรษที่ 21 ที่เป็นยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

“รศ.ดร.เสาวนีย์” กล่าวต่อว่า ในปีนี้เรามีวิชาที่เกี่ยวกับดิจิทัล คือ วิชาโค้ดดิ้ง (coding) เป็นวิชาที่บังคับให้นักศึกษาปี 1 ทุกคนต้องเรียน เพราะจะทำให้สามารถเขียนแอปพลิเคชั่นได้ โดยไม่ต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ ทั้งยังเป็นการฝึกระบบการคิด เช่น โครงสร้างข้อมูลเป็นอย่างไรมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง คนที่จะเริ่มเขียนเกม หรือแอปพลิเคชั่นได้นั้นจะต้องโค้ดเป็น

“อีกทั้งวิชานี้ยังเป็นวิชาบังคับที่ทุกคนต้องเรียน โดยเรานำวิชาโค้ดดิ้งมาผสมผสานกับผู้ประกอบการ คือ วิชา IDE .101 หรือการขับเคลื่อนผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรม (innovation driven entrepreneurship) ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานที่บังคับเช่นเดียวกับวิชาโค้ดดิ้ง คือเราจะสอน 2 วิชานี้ขนานกันไป ส่วนการสอบปลายภาค เราจะให้นักศึกษานำเสนอเรื่องธุรกิจสตาร์ตอัพ โดยร่วมกันทำงานเป็นทีม เพื่อให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ และไอเดียไหนถูกใจจะมีรางวัลให้ ทั้งนักศึกษายังนำธุรกิจนั้น ๆ ไปต่อยอดเพื่อให้เกิดธุรกิจจริงด้วย”

“ในปีนี้เราจึงเปิดหลักสูตรใหม่หลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรธุรกิจเกมและ e-Sport, หลักสูตรดิจิทัลเทคโนโลยี ภายใต้โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้ในห้องเรียนจำนวน 50% และอีก 50% เรียนรู้จริงกับสถานประกอบการ อีกทั้งนักศึกษาที่จบการศึกษาในระดับ ปวส. ยังสามารถศึกษาต่อในสาขานี้โดยใช้ระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น”

“นอกจากนั้นยังเปิดสาขา goods innovation ซึ่งเป็นโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่เช่นกัน โดยโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ

เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม new S-curveของประเทศ ขณะเดียวกันยังมีสาขาที่เกี่ยวข้องกับ digital ทั้งสาขา digital marketing ที่อยู่ในคณะบริหารธุรกิจ สาขาสื่อดิจิทัล ที่อยู่ในคณะนิเทศศาสตร์ ทั้งยังเปิดสาขาการท่องเที่ยวอินเตอร์ เนื่องจากคนจีนสนใจในโมเดลการท่องเที่ยวของประเทศไทย ในขณะที่หลักสูตรอื่น ๆ ยังมีการพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป”

“รศ.ดร.เสาวนีย์” กล่าวว่า มหาวิทยาลัยของเราปรับทิศทางมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการค้า และการบริการ เพราะประเทศไทยต้องการให้การบริการมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการบริการในผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศมีแค่ 50% เราจึงอยากเพิ่มให้ได้ถึง 80% เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นทิศทางที่สำคัญ

“เราจึงเปิดคณะการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมบริการ ที่ไม่ได้มีแค่ท่องเที่ยวอย่างเดียว เราเน้นเรื่องการค้าด้วย ทั้งนี้ การที่จะทำให้การค้าดีขึ้น เป็นการค้าในยุค 4.0 เราจึงต้องปรับตัวให้เข้าสู่การดำเนินธุรกิจโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์”

“เราจึงเกิดความร่วมมือกับ Alibaba เพื่อสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งศูนย์ฝึกการเรียนรู้และอบรม นอกจากนั้นร่วมมือกับทางหอการค้าไทย ช่วยกันฝึกอบรมผู้ประกอบการ SMEs และนักศึกษาของเราให้เข้าใจเกี่ยวกับการค้าออนไลน์ เนื่องจากทิศทางของเรากำลังจะไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการค้า และการบริการใน 5 ปีนี้ อีกทั้งเรายังมีนโยบายที่จะร่วมมือกับหอการค้าไทยที่จะผลิตบัณฑิตและให้ความรู้กับ SMEs ไทย ให้เป็นนักธุรกิจ 4.0 ด้วยการสร้างนักรบเศรษฐกิจอย่างที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง”

“ส่วนเรื่องการขยายตลาดไปต่างประเทศ เนื่องจากธุรกิจการศึกษาในประเทศไทยถือว่ามีความอิ่มตัว ทั้งจำนวนเด็กที่ลดลงที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนมหาวิทยาลัยที่มีอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐที่ได้รับเงินสนับสนุน จึงทำให้การแข่งขันในประเทศมีความยาก และท้าทายอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยเอกชนจึงต้องหาวิธีการ แนวทางใหม่ ๆ ให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้ และนอกจากประเทศเมียนมาแล้ว เรายังขยายความร่วมมือไปยัง สปป.ลาว เพราะเราจะเปิดหลักสูตรเอ็มบีเอ ในปีการศึกษานี้ โดยร่วมกับหอการค้าลาว และทางคณะกรรมการมีพูดคุยกันว่าจะขยายไปที่เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ ใน CLMV ภายในปี 2 ปีด้วย

ทั้งหมดจึงเป็นทิศทางของ ม.หอการค้าไทย ที่จะก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการค้า และเทคโนโลยีต่อไป