มธ.เปิดห้องเรียน “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ส่งเสริมความรู้รองรับเอจจิ้งโซไซตี้

มธ.เปิดห้องเรียน “โรงเรียนผู้สูงอายุ” กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุรอบด้าน โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และเตรียมเปิดหลักสูตรรีเทรนนิ่ง (Re-training) ให้ผู้ที่จบการศึกษาแล้วเรียนซ้ำในกลุ่มหลักสูตรที่มีความต้องการของภาคแรงงาน

“ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ” ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย และพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุ มธ.จึงจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุรอบด้าน โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้นำวิชาความรู้ ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง

โดยมีการถ่ายทอดความรู้ผ่านคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งจากภายใน มธ. และวิทยากรรับเชิญจากภายนอก ด้วยการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ผ่านความรู้ทั้ง 3 มิติ ได้แก่

1) มิติความรู้ที่ผู้สูงอายุต้องรู้ เน้นความรู้ด้านสุขภาพ เพื่อการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน โดยมีรายวิชา อาทิ โภชนาการที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพฟัน และการฝึกกายภาพบำบัดในทุกเช้า

2) มิติความรู้ที่ผู้สูงอายุควรรู้ เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพสังคมในปัจจุบัน เศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมทั้งแนวทางการดำเนินชีวิตในวัยชรา ผ่านรายวิชา อาทิ เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารสำหรับผู้สูงอายุ กฎหมาย สิทธิและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ สัจธรรม ชีวิตและความตาย และศาสตร์พระราชา “ชีวิตที่เป็นสุข”

3) มิติความรู้ที่ผู้สูงอายุอยากรู้ ความรู้ในมิตินี้ผู้ร่วมโครงการจะเป็นกำหนดเอง เพื่อให้ตรงกับความสนใจของตนเองมากที่สุด โดยเน้นไปในแนวทางการส่งเสริมอาชีพ อาทิ กิจกรรมสอนทำอาหารเพื่อสุขภาพ และกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ เพื่อความผ่อนคลาย รวมทั้งการทัศนศึกษาภายนอก อาทิ การศึกษาดูงานโครงการบ้านปลอดภัยสำหรับผู้สูงวัย และมีการร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสา

“สังคมไทยกำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของกลุ่มประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย ที่มีจำนวนเกือบ 10 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรในประเทศ และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับแนวทางการจัดการคุณภาพชีวิต ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมของผู้สูงอายุในไทย ที่ยังขาดความพร้อม เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว”

เห็นได้จากสังคมส่วนใหญ่มองว่าผู้สูงอายุเป็นวัยที่ไม่เหมาะกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงถูกทอดทิ้งให้อยู่ในที่พักอาศัยเพียงลำพัง ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคทางจิตและปัญหาด้านการดูแลตนเอง อาทิ โรคซึมเศร้า และการหกล้มในผู้สูงอายุ

“แท้จริงแล้วผู้สูงอายุและวัยเกษียณยังคงมีศักยภาพ และพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง รวมทั้งยังเป็นวัยที่มีเวลาว่าง และมีภาระหน้าที่น้อย เพียงแต่ยังคงขาดความรู้สมัยใหม่ อาทิ นวัตกรรมและเทคโนโลยี และขาดความรู้ที่เกี่ยวกับการวางแผนการดำเนินชีวิต อาทิ สิทธิของผู้สูงอายุตามกฎหมาย การวางแผนทางการเงินให้เหมาะสม การส่งเสริมความรู้ใหม่ ๆ ให้กับผู้สูงอายุ จึงเป็นแนวทางการพัฒนาวัยเกษียณให้มีคุณภาพ”

“รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์” รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กล่าวเสริมว่า เพราะเล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบัน ความรู้เดิมที่เคยมีอาจไม่เพียงพอต่อการทำงานและการดำรงชีวิต มธ. จึงมีแนวคิดในการเปิดโครงการธรรมศาสตร์ตลาดวิชา (GENEX-ACADEMY) เปิดโอกาสให้วัยทำงานและวัยเกษียณเข้าคอร์สเรียนเพิ่มเสริมทักษะ (Re-training) เพื่อทบทวนความรู้เดิม รวมทั้งแสวงหาความรู้ใหม่ตามความต้องการได้อย่างไร้ขีดจำกัด

“หลักสูตรดังกล่าวจะรองรับยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้โดยการเรียนแบบออนไลน์ และไม่จำกัดวุฒิและอายุของผู้เรียน อีกทั้งยังสามารถรับประกาศนียบัตร อนุปริญญา หรือปริญญาบัตร ตามข้อกำหนดของแต่ละหลักสูตรอีกด้วย”