ศธ.เชื่อปมครูเบี้ยวหนี้แค่ส่วนน้อย ครูส่วนใหญ่ต้าน แนะออมสินก่อนให้ครูกู้ควรเช็ก “เครดิตบูโร”

กรณีกลุ่มครูประกาศปฏิญญามหาสารคาม วันที่ 14 กรกฎาคม 2561 ขอให้รัฐบาลและธนาคารออมสินพักหนี้โครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ทุกโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป โดยลูกหนี้ ช.พ.ค. จำนวน 4.5 แสนคน จะดำเนินการยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่เหมาะสม นั้น

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามตนเรื่องนี้ และตนได้อธิบายชี้แจงให้ทราบเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งโดยกฎหมาย หากครูเป็นหนี้แล้วไม่ชำระหนี้ ทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย ขณะนี้ตนได้ประสานกับธนาคารออมสิน ให้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน และหากดูข้อเรียกร้อง จะพบว่าครูส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ดังนั้นจะมาอ้างว่า ครูกว่า 4.5 แสนคนเห็นด้วยคงไม่ได้ และที่ผ่านมา สกสค.และธนาคารออมสิน ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อช่วยเหลือปัญหาหนี้สินครูที่เป็นสมาชิก ช.พ.ค. และสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) เรียบร้อยแล้ว

“หลังจากเกิดเรื่องนี้ ความคิดเห็นจากประชาชน ครู และสื่อต่างๆ ชัดเจนว่าครูและประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของครูกลุ่มนี้ และเท่าที่ทราบกลุ่มคนดังกล่าวก็ได้ถอยหนีแล้ว การที่มีครูออกมาเรียกร้องในลักษณะนี้ ทำให้ครูมีภาพลักษณ์ไม่ดีนั้น ขอว่าอย่าเหมารวมจากภาพลักษณ์ของคนไม่กี่คน จะสะท้อนถึงภาพลักษณ์ครูทั้งหมดหรือมาอ้างว่าครูทุกคนจะมีพฤติกรรมแบบนี้นั้นไม่ถูกต้อง” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

ด้านนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) แถลงข่าวว่า เท่าที่ทราบเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นการประชุมที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)เชิญครูมาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องของความเป็นครูและความก้าวหน้าของครู ซึ่งมีครูเข้าร่วมกว่า 400 คน หลังประชุมเสร็จก็เดินทางกลับ ส่วนกลุ่มที่เป็นตัวตั้งตัวตีเป็นครูนอกราชการทั้งหมด

นายพินิจศักดิ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมารัฐบาลได้รับทราบปัญหาหนี้สินครู และไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง แก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยมีโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูมาเป็นระยะ ตั้งแต่โครงการลดภาระหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา การปรับโครงสร้างหนี้ การที่ สกสค.ไม่รับเงินสนับสนุนพิเศษแต่ให้นำไปปรับลดดอกเบี้ย ให้แก่ผู้กู้ที่มีวินัยทางการเงินที่ดี เป็นต้น และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการศธ. ให้ศธ. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยให้ตั้งคณะทำงานจัดทำข้อมูลแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากแหล่งเงินกู้/สถานบันการเงินต่างๆ รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุ เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคมนี้

“ตั้งแต่เปิดโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. 1-7 มีครูเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 9.3 แสนคน เป็นเงินกว่า 7.6 แสนล้านบาท และข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 เมษายน 2561 พบว่าเหลือครูที่ยังเป็นหนี้โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.อยู่ 4.8 แสนราย เป็นเงิน 4.1 แสนล้านบาท และเมื่อมีการเปิดโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูหลายโครงการ ก็มีครูเข้าร่วมมาเป็นระยะ โดยเฉพาะโครงการลดดอกเบี้ยให้ครูที่มีวินัยทางการเงินที่ดี มีครูได้รับประโยชน์มากกว่า 3.7 แสนราย ทำให้ลดดอกเบี้ยได้ถึงปีละ 2.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ จะมีเพียง 6.5 หมื่นรายที่ไม่ได้รับการลดดอกเบี้ย เพราะมียอดหนี้ค้างชำระ ไม่มาปรับโครงสร้าง หรือ อยู่ระหว่างปรับโครงสร้าง เหลืออีกประมาณกว่า 20,000 ราย ที่ยังตามตัวไม่ได้ ซึ่งจะขอให้ธนาคารออมสิน พิจารณาว่าจะให้ครูกลุ่มนี้เข้าร่วมโครงการใดได้อีกบ้าง เนื่องจากขณะนี้มีบางโครงการที่ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ” นายพินิจศักดิ์ กล่าวและว่า แสดงให้เห็นว่าครูส่วนใหญ่ไม่ได้คิดแบบครูกลุ่มดังกล่าว และเชื่อว่าครูที่มีวินัยทางการเงินที่ดีไม่มีความประสงค์เช่นนั้นแน่นอน เพราะครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดี อีกอย่างธนาคารออมสิน ก็มีลูกหนี้หลายกลุ่มไม่ได้มีเฉพาะครูเท่านั้น อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการอนุมัติเงินกู้ อยากให้มีการตรวจสอบเครดิตบูโรก่อนว่าครูมีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลผู้กู้เงินโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.1-7 รวบรวมโดยธนาคารออมสิน และ สกสค. อัพเดตเมื่อวันที่ 30 เมษยน 2561 มีดังนี้ โครงการ ช.พ.ค.1 วงเงิน 2 แสนบาท จำนวน 10,519 บัญชี เป็นเงิน 2,030.89 ล้านบาท, โครงการ ช.พ.ค.2 -โครงการ ช.พ.ค.3 วงเงิน 2 แสนบาท จำนวน 23,404 บัญชี เป็นเงิน 2,623.49 ล้านบาท, โครงการ ช.พ.ค.4 วงเงิน 2 แสนบาท จำนวน 4,803 บัญชี เป็นเงิน 624.04 ล้านบาท, โครงการ ช.พ.ค.5 วงเงิน 6 แสนบาท จำนวน 45,573 บัญชี เป็นเงิน 20,113.65 ล้านบาท, โครงการ ช.พ.ค.6 วงเงิน 1.2 ล้านบาท จำนวน 175,780 บัญชี เป็นเงิน 146,943.87 ล้านบาท, และโครงการ ช.พ.ค.7 วงเงิน 3 ล้านบาท จำนวน 223,499 บัญชี เป็นเงิน 238,586.99 ล้านบาท รวม 483,578 บัญชี เป็นเงิน 410,923 ล้านบาท

 

 

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์