ยูนิเซฟผนึก ม.กรุงเทพ จัดประกวดการแสดง สะท้อนมุมมองเยาวชนไทย

เพราะเสียงของเด็กและเยาวชนชาวไทยทุกคน มีความหมายในการกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศ ไม่แพ้เสียงของผู้ใหญ่ โครงการยูรีพอร์ต ประเทศไทย (U-Report Thailand) ภายใต้การสนับสนุนขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จึงจัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนให้เยาวชนมีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคม และประเทศชาติ

โครงการยูรีพอร์ต ประเทศไทย เริ่มขึ้นเมื่อปี 2559 โดยเป็นช่องทางในการสนับสนุน และส่งเสริมสิทธิในการมีส่วนร่วม และแสดงความคิดเห็นของวัยรุ่นและเยาวชน อายุระหว่าง 13-24 ปี ผ่านระบบโพลสำรวจออนไลน์ที่สื่อสารผ่านระบบ facebook messenger

ปัจจุบัน ยูรีพอร์ตมีอยู่ 38 ประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยมีสมาชิก 9,200 คน และมีอัตราการตอบโพลเฉลี่ยร้อยละ 30 ซึ่งผลโพลและข้อคิดที่ได้จากเยาวชนจะถูกนำไปเป็นข้อมูลประกอบการวางแผน หรือดำเนินการด้านนโยบายแก่องค์การยูนิเซฟ และพันธมิตร รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เอ็นจีโอ และเครือข่ายเด็ก และเยาวชนต่าง ๆ

“โธมัส ดาวิน” ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ยูนิเซฟต้องสร้างพื้นที่ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กและเยาวชนมีพลัง และพร้อมจะมีส่วนร่วมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาอย่างสร้างสรรค์

“ยูรีพอร์ตเป็นแพลตฟอร์มที่เด็กและเยาวชนสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านกิจกรรม และโพลออนไลน์ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงให้ผู้ใหญ่เข้าถึง และเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเด็ก ๆ ได้ดีขึ้นด้วย”

สำหรับปีนี้ ยูรีพอร์ตได้ร่วมกับภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ จัดประกวดผลงานการแสดง “Act Out Loud x U-Report ตอนเสียงของเยาวชน” มีนิสิตและนักศึกษาระดับอุดมศึกษาจำนวน 100 คนทั่วประเทศ

“พวกเขาเข้าค่ายการแสดงเพื่อฝึกฝน และพัฒนาทักษะด้านศิลปะการแสดงผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์กช็อปต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเขียนบท การแสดง และละครเพื่อการพัฒนาต่อไป ซึ่งจะมีวิทยากร และผู้เชี่ยวชาญในวงการมาให้ความรู้มากมาย”

การแสดงทุกชุดจากการประกวด Act Out Loud x U-Report ตอนเสียงของเยาวชน ได้ถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อสะท้อนปัญหา และมุมมองของเยาวชนในสังคมไทย ภายใต้ 4 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ การศึกษา, เพศ, ความรุนแรง และคอร์รัปชั่น

ด้วยการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากผลโพลของ ยูรีพอร์ต ประเทศไทย อันเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้ผลสำรวจมีความน่าสนใจ เช่น ร้อยละ 77 ของเยาวชนยอมรับได้หากผู้หญิงพกถุงยาง, มีเพียงครึ่งหนี่งของผู้ตอบโพลที่เลือกจะแจ้งผู้ใหญ่หากพบเห็น หรือประสบเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือคอร์รัปชั่น เพราะกลัวว่าจะถูกลงโทษ/ตักเตือน และคิดว่าบุคคลเหล่านั้นจะไม่โดนลงโทษอยู่ดี

นอกจากนั้น ร้อยละ 70 ต้องการที่จะร่วมออกแบบ และวางแผนหลักสูตรการเรียนการสอนกับครูประจำชั้น ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการขาดการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญของเยาวชน ในการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้จากสถานศึกษาให้เข้ากับชีวิตประจำวัน

สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศคือ “พันธกิจ หลิมเทียนลี้” นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ จากการแสดงเรื่อง “พ่อคับ…อันนี้คืออะไร” โดยนำเสนอประสบการณ์ของตนเมื่อตอนสมัยยังเรียนมัธยม เขาตั้งคำถามด้วยความสงสัยกับครอบครัวว่า “ถุงยางใช้ยังไง” แต่กลับได้รับการตอบรับที่ไม่ดีจากครอบครัว จึงทำให้เขาไม่กล้าที่จะถามเรื่องเพศสัมพันธ์กับครอบครัวอีกเลย

นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาอยากหาคำตอบ “ทำไมเราไม่สามารถพูดเรื่องเพศสัมพันธ์กับครอบครัวได้ ทั้ง ๆ ที่มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติ”

ทั้งนี้ผลงานที่ชนะรางวัลจะได้รับการพัฒนาต่อยอดสู่ระดับมืออาชีพ เพื่อนำไปเผยแพร่เป็นละครเร่ และจัดแสดงให้นักเรียนและนักศึกษาทั่วประเทศได้รับชมต่อไป