แนะวิธีแก้เบี้ยวหนี้ “กยศ.” ปรับระบบทวงเงิน-ปล่อยกู้

หมายเหตุ – ข้อเสนอแนะของนักวิชาการ ผู้กู้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ถึงทางออกในการแก้ปัญหาผู้กู้เงิน กยศ.ผิดนัดชำระหนี้เงินกองทุน กยศ.กว่า 2.1 ล้านราย และล่าสุดจากกรณี น.ส.วิภา บานเย็น อายุ 47 ปี ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.กำแพงเพชร ที่ได้รับความเดือดร้อนถูกยึดบ้านและที่ดิน จากการค้ำประกันเงินกู้ กยศ.แก่ลูกศิษย์กว่า 60 คน ที่ไม่ยอมชำระเงินกู้

ภาวิช ทองโรจน์
อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)

การเบี้ยวหนี้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดี สำหรับกรณีของ กยศ. ประเด็นสำคัญไม่ใช่แค่เพียงเรื่องหนี้ เพราะเป็นเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรม เนื่องจากเอาเงินส่วนรวมไปใช้ในการเรียน เมื่อจบการศึกษาแล้วมีความรู้ความสามารถจนประกอบอาชีพและมีรายได้ ก็ควรทำตามกฎเกณฑ์ นำเงินมาใช้คืนให้ถูกต้อง การละเลยก็เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เป็นภาระสังคม อีกทั้งยังเป็นการตัดโอกาสรุ่นน้องด้วยเช่นกัน นอกจากว่าไม่มีความสามารถในการใช้คืน เพราะยังไม่มีงานทำ นั่นก็เป็นกระบวนการอีกเรื่องในการผ่อนผันหนี้ต่อไป ส่วนผลกระทบเรื่องยอดหนี้ที่ค้างคา เป็นสิ่งที่สะสมมาเรื่อยๆ ถ้ามีคนจงใจเบี้ยว สิ่งเหล่านี้ก็จะร้ายแรงเรื่อยๆ เพราะจำนวนหนี้จะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง

สำหรับจุดที่ควรมีการแก้ไข ประการแรก กระบวนการทวงเงินต้องมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ สมัยที่ผมเคยเป็นเลขาธิการ กกอ.เมื่อช่วง 10 ปีก่อน เคยเสนอมาตรการหักเงิน ณ ที่จ่าย เหมือนกับการหักภาษี ที่ปัจจุบันเพิ่งถูกหยิบยกกลับมาพูดคุยใหม่อีกครั้ง ซึ่งในช่วงเริ่มแรกคาดว่าจะนำมาบังคับใช้ได้กับบุคคลที่ประกอบอาชีพทางภาครัฐก่อน ส่วนภาคเอกชนต้องหามาตรการบังคับทางกฎหมายมีประสิทธิภาพต่อไป เพราะสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ และหากทำได้จริง จะสามารถได้เงินที่ติดค้างอยู่นั้นคืนกลับมาอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการบังคับใช้ควบคู่กับการเสียภาษี อย่างน้อยก็ยังมีการบันทึกข้อมูล และมีกระบวนการแจ้งรายละเอียดว่า แต่ละบุคคลควรเสียค่าใช้จ่ายใดๆ บ้าง

ประการต่อมาเรื่องประเด็นพิจารณาปล่อยกู้ต้องเข้มงวดกว่านี้ เนื่องจากในบางมหาวิทยาลัย ได้เปิดสอนในสาขาวิชาที่ไม่มีประสิทธิภาพที่เพียงพอ อาจเป็นสาขาที่เรียนง่าย สอนง่าย โดยใช้ครูอาจารย์จำนวนไม่กี่คน ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ ทำให้เด็กจบมาอาจต้องตกงาน ไม่มีความสามารถพอต่อการประกอบอาชีพได้ ทำให้เกิดการเบี้ยวหนี้ตามมาอีกเช่นกัน อีกทั้งยังมีความไม่ตรงไปตรงมาอยู่ไม่น้อย เช่น บางมหาวิทยาลัยได้งบมาสำหรับให้เด็กกู้จำนวน 100 คน แต่เด็กที่แจ้งความต้องการกู้มีมากกว่า 200 คน จึงเกิดการหารงบเหล่านั้นให้ครบทุกคน ทำให้เด็กมีรายได้ไม่พอใช้ แต่มหาวิทยาลัยได้ค่าเทอมไปเต็มๆ ซึ่งต้องควบคุมตรวจสอบให้ดี

ในด้านมุมมองต่อผู้ค้ำจากกรณีที่ครูเป็นคนมีจิตใจดี ตัดสินใจเซ็นค้ำให้เด็กจำนวนมาก จนได้รับผลกระทบตามมานั้น ที่จริงแล้วควรมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดกว่านี้มาแต่ต้น เพราะควรมีการตรวจสอบว่าผู้ค้ำมีขีดความสามารถในการรับผิดชอบกับหนี้ที่ตัวเองเซ็นไว้หรือไม่ เพราะเหตุการณ์เช่นนี้เป็นการหละหลวมของกองทุน เห็นได้ชัดว่าครูไม่สามารถรับผิดชอบแทนเด็กได้ทั้งหมดอย่างแน่นอน โดยทางกองทุนควรมีข้อกำหนดเช่นเดียวกับการกู้เงินจากสหกรณ์ที่ให้บุคคลหนึ่งเซ็นค้ำได้เพียงแค่ 2 คนเท่านั้น และควรมีความรอบคอบในกระบวนการต่างๆ มากกว่านี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจบานปลายอีกในอนาคต

สุดท้ายนี้ ส่วนตัวมองว่ากองทุนกู้ยืมการศึกษานั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นการเปิดโอกาสด้านการศึกษาให้กับทุกคน ที่อาจไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ แต่มีความตั้งใจที่จะศึกษาเล่าเรียน ได้มีอนาคตที่ดีกว่า แต่ควรมีมาตรการที่รองรับอย่างเหมาะสม เท่าที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวสามารถเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เป็นจำนวนมาก แต่กลับต้องมาเกิดความเสียหายและได้รับผลกระทบจากคนจบแล้วไม่รับผิดชอบ ต้องแก้ที่การอบรมบ่มนิสัยที่ตัวเด็กตั้งแต่กระบวนการเรียนการสอน ด้านคุณธรรม จริยธรรม ส่วนตัวแล้วมองว่ากองทุนนี้ไม่ควรล้มเลิก เพราะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ควรต้องไปปรับปรุงการจัดการให้มีประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่

สมพงษ์ จิตระดับ
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากกรณีที่ ครูวิภา บานเย็น ผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ได้เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืม ตนในฐานะที่เป็นครูคนหนึ่ง เมื่ออ่านข่าวแล้วรู้สึกเศร้าใจ และคิดว่ามีครูอีกหลายคนที่ประสบเหตุการณ์ลักษณะนี้อีกมาก รวมไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน เมื่อเวลาเดือดร้อนนักเรียนผู้ปกครอง มาขอร้องให้เซ็นค้ำประกันให้ แต่พอถึงเวลาเเล้วไม่ชำระหนี้จนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมากมาย

ผมรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมกับคนเหล่านี้อย่างมาก เพราะคนเหล่านี้มีเจตนาดี ต้องการเห็นเด็กมีอนาคตที่ดี จึงเซ็นสัญญาค้ำประกันไป แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับมากลับตรงกันข้าม ทำร้ายผู้ค้ำประกันทั้งทางตรงและทางอ้อม คิดว่าถึงเวลาที่สังคมต้องตั้งคำถามหาจรรยาบรรณ จริยธรรม ศีลธรรมของผู้กู้กันได้เเล้ว

เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ สำหรับหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้กู้ ผู้ค้ำประกัน และ กยศ. ว่าถ้าผู้กู้ที่ขาดความรับผิดชอบจะสร้างความเดือดร้อนอย่างเเสนสาหัสให้ใครบ้าง อย่างเช่น ครูวิภาที่ตั้งใจทำเรื่องดีๆ อยากให้ลูกศิษย์มีอนาคตที่ดี เมื่อบุคลากรทางการศึกษาพบเจอเรื่องเเบบนี้ ต่อไปครูที่ไหนจะกล้าทำงานหรือสู้เพื่อเด็ก มันเป็นผลตอบแทนที่ครูอย่างเราไม่สมควรจะได้รับ

ส่วนเด็กที่เบี้ยวหนี้ ขอให้มีความกล้าหาญที่จะเปิดเผยตัวเอง แล้วมาชำระหนี้เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับรุ่นน้อง ช่วยเข้าใจเเละเห็นใจครูที่ค้ำประกันและต้องจ่ายหนี้แทนด้วย อีกทั้งเด็กที่กู้เงิน ต้องมีวินัย มีความรับผิดชอบ มีความกตัญญู ระลึกเสมอว่าเราต้องคืนเงิน กยศ. เพื่อขยายโอกาสให้รุ่นน้องได้มีโอกาสเรียนเหมือนตน และในกรณีนี้ ผมขอชื่มชม กยศ.ที่ออกมาตอบรับและแก้ไขปัญหาได้ดี แต่อีกทางหนึ่งลองคิดว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่เป็นข่าว ผมว่า กยศ.จะไล่บี้เอาเงินกับผู้ค้ำประกันอยู่ดี แทนที่จะตามไล่บี้เอาจากผู้กู้ก่อน และเกิดคำถามว่าการดำเนินการดำเนินคดีติดตามทรัพย์นั้นดำเนินการครบถ้วนสมบรูณ์แล้วหรือยัง ถึงมาไล่บี้กับผู้ค้ำประกัน และถ้าไม่มีข่าวท้ายสุด กยศ.จะไล่บี้กับผู้ค้ำประกันเหมือนเดิมหรือไม่

จากเหตุการณ์นี้ คิดว่า กยศ.ได้รับบทเรียนและต้องหาวิธีแก้ไขต่อไป เมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งที่เสียสละเดือดร้อน กยศ.จะต้องมีวิธีการจัดการกับผู้กู้ที่เบี้ยวหนี้ ข้อกังวลต่อไปคือ เมื่อมีข่าวนี้ออกมา ครูซึ่งเป็นตัวเลือกหลักที่นักเรียนขอให้ค้ำประกันจะยอมค้ำประกันให้เด็กหรือไม่ กยศ.ควรออกหลักเกณฑ์การค้ำประกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน เช่น การที่ใครจะค้ำประกันให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ต้องตรวจดูวงเงินว่าบุคคลนี้สามารถค้ำประกันได้กี่คน หรือกำหนดไปว่า ครูหนึ่งคนไม่ควรค้ำประกันเด็กเกิน 3 คน เป็นต้น กยศ.ควรเข้าใจเเละหาวิธีป้องกันผู้ค้ำประกันมากกว่านี้ ถ้าครูวิภาผู้รับราชการมาตลอดชีวิต กลายเป็นบุคคลล้มละลาย และถ้า กยศ.ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ สังคมจะผิดหวังในตัว กยศ.แน่นอน ส่วนผู้ค้ำประกัน ไม่ว่าจะเป็นครูหรือใครก็ตาม หากจะช่วยเหลือใครต้องดู สังเกตให้รอบคอบ อย่ามีเพียงความหวังดีเพียงอย่างเดียว ต้องแยกและดูเด็กให้ออกว่า เราสามารถค้ำประกันเด็กคนนี้หรือไม่ เด็กเป็นเด็กดี มีความรับผิดชอบหรือไม่ เป็นต้น

สัมพันธ์ นิลศรี
อดีตนักศึกษาผู้กู้เงินกองทุน กยศ.

คิดว่าสาเหตุที่ผู้กู้ กยศ.ไม่ยอมจ่ายเงินชำระหนี้มี 2 ประเด็น อย่างแรกอาจเป็นจิตสำนึกของตัวบุคคลของผู้กู้เอง อีกประเด็น คือระบบการจัดการเร่งรัดหนี้ช่วงแรกของ กยศ.ที่ไม่ชัดเจน ปกติเงินกู้ กยศ.ให้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ภายใน 15 ปี หลังจากจบการศึกษาหนึ่งถึงสองปี และมีเอกสารให้ตัวผู้กู้ ว่าต้องชำระดอกเบี้ยจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ซึ่งในตอนสมัยที่เรียนมีกระแสข่าวโคมลอยว่าการกู้ กยศ.นี้เป็นโครงการช่วยเหลือให้กับผู้ที่ไม่ค่อยมีฐานะทางการเงิน ไม่ต้องชำระเงินคืน ซึ่งตอนนั้นทาง กยศ.ไม่ได้มีการติดตามเร่งหนี้การชำระเงิน ทำให้ผู้กู้ กยศ.รู้สึกว่าข่าวที่ได้รับมาเป็นความจริง พอผ่านไปประมาณ 10 ปี ถึงมีมาตรการที่เข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการส่งหมายศาล มองว่าก่อนหน้านั้นการบริหารของ กยศ.ไม่มีความชัดเจนในการเร่งรัดหนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับมีหมายศาลมาทางผู้กู้

ปัจจุบันถือว่าการที่รุ่นพี่ไม่ชำระหนี้ที่กู้มา ทำให้รุ่นน้องลำบากไปด้วย ดั้งนั้น กยศ.ควรแก้ไขนโยบายให้ตรงจุด เพราะจะได้ไม่มีปัญหาอะไรแบบนี้ เช่นเดียวกับกรณีของอาจารย์วิภา ทาง กยศ.ควรมีวิธีการไม่ควรปล่อยปละละเลยในเรื่องเร่งรัดหนี้

ส่วนตัวเพิ่งจ่ายหนี้กองทุน กยศ.หมดช่วงต้นปีที่ผ่านมาหลังจากที่จ่ายมานานหลายปี สิ่งที่อยากฝากให้กับผู้ที่เคยกู้ กยศ.ว่าอยากให้มีจิตสำนึกในการชำระดอกเบี้ย บางคนอาจมีเงินน้อย แต่คือความรับผิดชอบของเรา และทาง กยศ.ต้องหาทางออกให้กับผู้กู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เช่น การลดดอกเบี้ยให้กับผู้กู้ หากไม่มีการส่งคืนเงินที่กู้ยืมมาเรียน น้องๆ รุ่นหลังคงลำบาก อาจส่งผลกระทบต่อคนที่ไม่มีเงินจริงๆ ทำให้พวกเขาขาดโอกาสในการเรียนหนังสือ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์