กูรูแนะเพิ่มหลักสูตร “ออนไลน์” ช่องทางเข้าถึงความรู้ทั่วประเทศ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2018 เรื่อง Powering Thailand Competitiveness through Digital Transformation โดยหนึ่งในหัวข้อของการสัมมนามีการพูดถึง “New Era of Education : When everyone can learn anything”

เริ่มจาก “ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ” ที่ปรึกษาอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า จุฬาฯได้เปิดคอร์สออนไลน์หรือ Chula MOOC ซึ่งมีผู้สมัครเรียน 50,000 คน และเรียนจบคอร์สแล้วกว่า 10,000 คน โดยวิชาที่เสนอในคอร์สออนไลน์เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีความหลากหลาย เช่น ทำอย่างไรให้สินค้า Go Inter, หลักการพื้นฐานทางกฎหมายแพ่ง, ภาษารัสเซีย, Introduction to Data Analytics and Big Data, Infographics What & How

“ไม่เพียงแต่การเปิดคอร์สให้กับผู้สนใจ จุฬาฯยังตระหนักถึงความสำคัญของการปรับทักษะ (reskilling) ของบุคลากรในภาคเอกชนที่ต้องการความช่วยเหลือจากสถาบันการศึกษา จึงเปิดการอบรมพนักงานโดยมีหลายบริษัทให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการนี้”

ขณะที่ “เรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์” ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ภาคการศึกษาของรัฐตระหนักถึงความต้องการของภาคเอกชนที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมใหม่ (new S-curve) โดยสภาการศึกษาได้เปิดรับความคิดในการปรับเปลี่ยนหลักสูตร แต่การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา เพราะติดเรื่องกฎระเบียบ อีกทั้งมีอุปสรรคที่ครูบางกลุ่มไม่ยอมปรับเปลี่ยนหรือรับสิ่งใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มครูที่อายุเกิน 50 ปี

“ถึงแม้ในยุค 4.0 การศึกษาออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่การสอนให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดียังต้องใช้ปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว ซึ่งครูมีบทบาทสำคัญอย่างมาก อย่างที่ภาคเอกชนบอกว่าเขาต้องการพนักงานซื่อสัตย์ มีวินัย ความอดทน คุณสมบัติเหล่านี้การศึกษาออนไลน์คงให้ไม่ได้”

ด้านผู้ผลิตและจำหน่ายสื่อการเรียนรู้อย่างบริษัท แม็คเอ็ดดูเคชั่น จำกัด “อาสาฬห์ พานิชกิจ” รองกรรมการผู้จัดการ มีมุมมองว่า แนวโน้มของเทคโนโลยีอันประกอบด้วยความเป็นจริงเสมือน (virtual reality, VR) ความเป็นจริงเสริม (augmented reality, AR) และความจริงผสม (mixed reality, MR) จะเข้ามามีบทบาทในการศึกษามากขึ้น ทำให้นักเรียนไม่จำเป็นต้องเดินทางเพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนให้เหมือนอยู่สถานที่จริง

“แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นกับนักเรียนชนบท พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยี เพราะยังขาดอินเทอร์เน็ต ถึงแม้เน็ตประชารัฐได้ติดตั้ง WiFi ให้กว่า 27,000 หมู่บ้านแล้ว ทั้งยังมีแผนที่จะเพิ่มให้ทุกหมู่บ้าน หรือ 70,000 หมู่บ้านทั่วประเทศให้มี WiFi ภายในสิ้นปีนี้ แต่ผลสำเร็จของโครงการยังไม่เป็นที่ประจักษ์”

“เพราะยังต้องพัฒนาขอบเขตของ WiFiให้คนทั้งหมู่บ้านได้ใช้ มิใช่ใช้ได้เพียงที่บ้านผู้ใหญ่บ้านหรือวัด รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องการนำไปใช้ประโยชน์ เพราะพบว่าชาวบ้านและเด็กใช้ WiFi เพื่อเล่นเกมมากที่สุด ดังนั้น จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการศึกษาต้องมาก่อนเทคโนโลยี เพราะหากไม่มีการศึกษาก็ไม่สามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้”


“ดร.สุพจน์” กล่าวปิดท้ายว่า ปัญหาเรื่องการศึกษาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ถ้ารัฐบาลจัดหลักสูตรทุกวิชาให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และเป็นหลักสูตรออนไลน์ แล้วให้ทุกโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเข้าใช้ได้ ซึ่งถ้าทำได้จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องความไม่พร้อมของสถานที่ ครู รวมถึงตอบโจทย์คุณภาพการศึกษาไทยให้ดีขึ้น