SUT Hackathon นวัตกรรมเกษตรสู่เยาวชน

ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่คือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคต โดยเฉพาะ Gen Y และ Gen Z ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต จึงทำให้เขาเหล่านั้นมีความคิดสร้างสรรค์ ความฝัน ความเชื่อมั่น และแรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน ๆ

ผลเช่นนี้จึงทำให้พื้นที่กว่า 45% ของประเทศไทยมีสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับการทำการเกษตร ในขณะที่ประชากรจำนวน 32% ของประเทศ หรือประมาณ 12 ล้านคนเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรมที่สามารถสร้างผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้เพียง 10% จึงทำให้ภาคเกษตรต้องการพลังจากกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนให้กับการทำเกษตร

ทั้งนี้ หากคนรุ่นใหม่ได้รับการบ่มเพาะแนวคิด และการสร้างทักษะที่เหมาะสม จะสามารถพัฒนาต่อยอด ทั้งยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับประเทศไทยในอนาคต จึงทำให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับโครงการจัดตั้งสถานพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (Student Entrepreneurship Development Academy : SEDA) ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มมิตรผล และโครงการ Startup Thailand Academy กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรม “SUT Hackathon ครั้งที่ 4 : From Farm to Factory”

เพื่อมุ่งบ่มเพาะและขับเคลื่อนคลื่นลูกใหม่ให้กับภาคการเกษตร ด้วยการสนับสนุนให้นักศึกษาประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ตลอดจนพัฒนาการทำเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ไม่เพียงเท่านี้ “กลุ่มมิตรผล” ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมลงพื้นที่จริงในโรงงานและไร่มันสำปะหลังในเครือโรงงานมิตรผล เพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง และสนับสนุนเงินรางวัลเพื่อนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมให้กับภาคเกษตรไทยต่อไป

“ประวิทย์ ประกฤตศรี” ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กิจกรรม SUT Hackathon จะทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้รอบด้านผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย เริ่มด้วยการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ณ โรงแป้ง ไร่มันสำปะหลังบริเวณโดยรอบ และการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา

“หลังจากนั้น นักศึกษาแต่ละทีมได้ร่วมกันระดมสมองค้นหาไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อพิชิตโจทย์การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและแปรรูปมันสำปะหลัง ด้วยนวัตกรรมในแบบ From Farm to Factory โดยมีคณะอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นที่ปรึกษา ก่อนที่แต่ละทีมจะนำเสนอผลงานแก่คณะกรรมการ”

“สำหรับผลงานที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษและได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ PaperPest ผลิตภัณฑ์สำหรับตรวจวัดสารกำจัดศัตรูพืช (Paper-based pesticide indicator) ที่ช่วยให้เกษตรกรและผู้บริโภคที่รักสุขภาพ สามารถตรวจสอบปริมาณสารเคมีที่แฝงอยู่ในพื้นที่การทำเกษตรหรือผลิตภัณฑ์การเกษตรได้อย่างง่าย ๆ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงในการรับสารเคมีในชีวิตประจำวัน”

ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งนั้น “ประวิทย์” บอกว่า ได้แก่ ผลงาน CAScloud แอปพลิเคชั่นเพื่อให้คำปรึกษาเกษตรกรตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนช่วยวางแผนการทำเกษตรและบันทึกรายรับรายจ่าย

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัล Special Award ได้แก่ ผลงาน Castech ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบปริมาณแป้งของหัวมันสำปะหลังในเบื้องต้นได้ว่ามีปริมาณเท่าไหร่ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรในการขายผลผลิต

“รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา” รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวเสริมว่า กิจกรรม SUT Hackathon ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นในครั้งนี้เพื่อจุดประกาย บ่มเพาะ และติดปีกความเป็นผู้ประกอบการให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

“นักศึกษาทุกทีมได้แสดงออกซึ่งทักษะ และความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ของตนในการแก้ปัญหา เป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญของผู้ประกอบการที่จะต้องรู้จักปรับใช้ความรู้เพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค”


“ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างถูกจุดและต่อเนื่องจะกลายเป็นแรงกระเพื่อม และฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยต่อไปในอนาคต”