สกอ. จับมือ 5 ภาคีวิจัย หนุนทุนเทคโนฯการแพทย์

สกอ.ผนึกกำลัง 5 หน่วยงานวิจัยหลัก เปิดตัว “โครงการทุนบูรณาการเพื่อความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์” หรือ “TMTE Fund (Thailand MED TECH Excellence Fund) เพื่อต่อยอดงานวิจัยที่มีศักยภาพสู่พาณิชย์ และพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ไทยให้ก้าวสู่สากล

“ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์สู่ความสำเร็จเชิงพาณิชย์ ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และเครือข่ายหน่วยงานสนับสนุนด้านงานวิจัย

โดยได้กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่าเป็นการผลักดันและแก้ปัญหาการพัฒนาผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ของประเทศ ซึ่งต้องการการสนับสนุนทุนและความช่วยเหลืออื่น เช่น กฎระเบียบ, นโยบายที่เกี่ยวข้อง และการประชุมเชิงปฏิบัติการ

สำหรับ 5 หน่วยงานวิจัยของโครงการ ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขณะเดียวกัน ยังมีการสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีกลไกอื่น ๆ ซึ่งเชื่อมต่อกับกระบวนการพัฒนางานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ได้แก่ องค์การอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและกลุ่มวิชาชีพ ได้แก่ โครงการศูนย์วิจัยทางคลินิกแห่งชาติ, กลุ่มผู้ซื้อและผู้เกี่ยวข้องกับการใช้ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อสนับสนุนทุนด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์แก่บริษัทเอกชนหรือสตาร์ตอัพที่มีความพร้อม

“เกณฑ์พิจารณาทุนจะมองจากระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยี ความพร้อมด้านการตลาด รวมถึงความพร้อมด้านการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เปลี่ยนการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี”

“ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสถาบันอุดมศึกษาร่วมภาคเอกชน พัฒนาการศึกษา การวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ระบุว่า ความสำคัญของโครงการนี้คือทำอย่างไรให้งานวิจัยทางการแพทย์ที่มีศักยภาพต่อยอดให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงานและสร้างรายได้มากขึ้น ในทางเดียวกัน มหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานต่าง ๆ ได้รับประโยชน์ มีเงินหมุนเวียนในระบบวิจัยในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยในปีแรกทางฝ่ายอุตสาหกรรม สกว.ตั้งกรอบงบประมาณในการสนับสนุนทุนวิจัยไว้ที่ 20 ล้านบาท

“โครงการที่ส่งมาจะพิจารณาโดยคณะกรรมการกลาง ประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ตลอดจนผู้ผลิต ผู้ใช้งาน บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้กำกับตรวจสอบกฎระเบียบ นโยบาย และผู้สนับสนุนส่งเสริมทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน”

โดยการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นที่ 1 ปรับปรุงต้นแบบ (อบรม ความพร้อมทางการตลาด พัฒนาต้นแบบ และวางแผนจดสิทธิบัตร) ขั้นที่ 2 ทดสอบต้นแบบ (ทดสอบมาตรฐาน ทดสอบพรีคลินิก ทดลองในสัตว์และในคน จดสิทธิบัตร) และขั้นที่ 3 พร้อมจำหน่ายสู่ตลาด (สนับสนุนการตลาด ออกผลิตภัณฑ์ ขึ้นบัญชีนวัตกรรม)

สำหรับนักวิจัยและผู้ประกอบการภาคเอกชนที่สนใจสามารถส่งข้อเสนอโครงการได้ถึง 30 ก.ย. 2561