เครือ รพ.พญาไท-เปาโล ส่งต่อความรู้ทางการแพทย์สู่ ปชช.

จุดเริ่มต้นของการทำซีเอสอาร์เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล เป็นเช่นเดียวกับองค์กรอื่น ๆ คืออยู่ในรูปแบบของการบริจาค ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากปี 2554 ที่ประเทศไทยประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ หลังจากนั้นจึงเกิดโครงการต่าง ๆ มากมายเพื่อพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น พร้อมกับปรับทิศทางการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นใช้ความเชี่ยวชาญขององค์กรในการรับผิดชอบผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

“อัฐ ทองแตง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ให้มุมมองว่า ด้วยความที่องค์กรเป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งมิติที่เล็งเห็นว่าสังคมต้องการ คือ ความรู้ และการส่งเสริมทางการแพทย์ โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับการช่วยชีวิต เพราะความรู้จะติดตัวไปตลอด และทุกคนมีโอกาสช่วยคนรอบตัวจากอาการฉุกเฉินได้

อย่างไรก็ดี การทำซีเอสอาร์ของเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโลไม่ได้ฉายเดี่ยว หรือดำเนินงานเพียงองค์กรเดียว แต่มุ่งเน้นผนึกกำลังกับพันธมิตร ด้วยการสอบถามไปยังพันธมิตรที่มีความสนใจเดียวกัน หลังจากนั้นจะวางเป้าหมายการทำงานร่วมกัน

“ความร่วมมือระดับองค์กรจะทำให้งานซีเอสอาร์ขยายผลได้ สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมาก คือ ความคงอยู่ และความต่อเนื่องของโครงการ ซึ่งซีเอสอาร์ที่ดีควรเป็นซีเอสอาร์ที่สร้างอิมแพ็กต์ หรือสร้างความผูกพันที่ดีให้เกิดขึ้นกับสังคมในระยะยาว ฉะนั้นงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโลทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ ของเรา”

ตัวอย่างการดำเนินงานที่เห็นชัดจากแนวคิดของ “อัฐ” คือ โครงการ Phayathai Alarm Center ที่ให้ความรู้พื้นฐานการช่วยเหลือชีวิต และการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี โดยได้ร่วมกับบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) พันธมิตรทางธุรกิจด้านการผลิตถุงมือยางทางการแพทย์

“เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ทุกวัน ไม่เลือกเวลาและสถานที่ ดังนั้นการมีความรู้พื้นฐานการช่วยเหลือชีวิต และการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชน เพราะไม่ต้องรอความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่สามารถทำการช่วยเหลือเบื้องต้นได้ทันที”

“โครงการนี้เริ่มต้นที่โรงพยาบาลพญาไท 2 โดยเราจะให้ความรู้การช่วยฟื้นคืนชีพด้วยการปั๊มหัวใจ (CPR) แก่ประชาชน กลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจของโรงพยาบาล และ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี ซึ่งทางศรีตรังฯยังสนับสนุนถุงมือยางทางการแพทย์ สำหรับการจัดทำอุปกรณ์ปฐมพยาบาล และสนับสนุนการผลิตสื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเหตุไม่คาดคิดอีกด้วย”

“นพ.อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 ให้รายละเอียดของโครงการ Phayathai Alarm Center เพิ่มเติมว่า กลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลต้องการให้ทุกคนมีความรู้ด้านการช่วยเหลือชีวิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการมาเข้าร่วมอบรมกับโรงพยาบาล หรือรับรู้ข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ

“เราจะให้ความรู้ขั้นต้นเกี่ยวกับการช่วยเหลือรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการปฏิบัติตัวขั้นต้น การขนย้ายผู้ป่วย การช่วยฟื้นคืนชีพ ถึงแม้โรงพยาบาลจะมีมาตรฐาน ทำหน้าที่ของตัวเอง และดูแลคนไข้ให้ดีที่สุดก็ตาม แต่อาจต้องใช้เวลาในการเข้าถึงตัวคนไข้ที่จุดเกิดเหตุ คนไข้หรือผู้ที่พบเห็นต้องรู้วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งความรู้เหล่านี้เหมาะกับประชาชนทุกคน เพราะทุกคนมีโอกาสจะประสบเหตุ หรือพบเจอเหตุได้”

เบื้องต้นโรงพยาบาลพญาไท 2 จะจับมือกับองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลคนจำนวนมาก อย่างตำรวจท่องเที่ยว และโรงเรียน ก่อนที่จะขยายไปยังบริษัทต่าง ๆ คาดว่าสิ้นปีนี้จะสามารถนำองค์ความรู้เข้าถึงองค์กรต่าง ๆ ประมาณ 10 แห่ง

นอกจากนี้ยังวางแผนว่าจะมีการจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานการช่วยเหลือชีวิต และการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี ซึ่งจะออกแบบให้เหมาะกับสาขาอาชีพ หรือการทำงานของแต่ละองค์กร

“หลักสูตรมีโครงร่างอยู่แล้ว แต่กำลังออกแบบบางหลักสูตรที่เจาะจงมากขึ้น เช่น การเทรนคนในโรงงานที่อาจเจอกับเหตุการณ์มือหรือแขนขาด เราจะเทรนการเก็บอวัยวะอย่างไรให้ถูกวิธีจึงจะเอากลับมาต่อได้ หรือโรงเรียน ซึ่งเด็กอาจบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา แขนหรือขาหัก เราจะมีการสอนวิธีการดามแขน หรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้น”

“เราลงทุน 10 ล้านบาท ในการจัดตั้งเซ็นเตอร์ในโรงพยาบาล มีหุ่น อุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับการเทรนคนของเรา และคนภายนอกที่สนใจเข้ามาลองฝึกซ้อม ทั้งการทำ CPR การเจาะเลือด หรืออื่น ๆ โดยห้อง simulation เฟสแรกจะแล้วเสร็จในปีนี้ และปีหน้าจะเริ่มทำเฟสสอง”

“นพ.อนันตศักดิ์” บอกต่อว่า หากมองอีกด้านของโครงการนี้ คือ การทำ CSV (Creating Shared Value) ของโรงพยาบาลพญาไท 2 ในแง่ที่ประชาชนได้ประโยชน์จากการได้รับองค์ความรู้ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลจะได้ประโยชน์เชิงธุรกิจ เพราะหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการอาจนำตัวผู้ป่วยมาส่งที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างเครือข่ายไปในตัวอีกด้วย