“หมอธี” ยาหอมดีเดย์ 1 ต.ค. ครูไม่ต้องทำงานธุรการ ทุ่ม3พันล.จ้าง”ธุรการ-ภารโรง”ทั่วประเทศ

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่โรงเรียนอนุบาล จ.ชุมพร นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ผู้บริหารระดับสูงของศธ.ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ โดยมีครู ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เข้าร่วม

โดยนพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ศธ.ตกเป็นจำเลยสังคมในเรื่องการจัดการศึกษามานาน แต่ขณะนี้เท่าที่ดูภาพรวมเป็นไปในทิศทางค่อนข้างดี ทั้งที่ปีงบประมาณ 2561 เราได้รับงบน้อยลง 9 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2562 ได้งบน้อยลงอีก 1 พันกว่าล้านบาท แต่กลับแก้ไขปัญหาได้หลายส่วน เช่น การอบรมครู ที่ผ่านมาใช้งบปีละ 9 พันกว่าล้าน แต่เมื่อทำโครงการคูปองพัฒนาครู ใช้งบเพียง 2 พันกว่าล้านในการอบรมครูกว่า 3 แสนคน ครูที่ไม่ลงทะเบียน ส่วนใหญ่คือครูใกล้เกษียณ ขณะเดียวกันขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปรับลดโครงการต่างๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น การจัดกิจกรรมที่ทำอยู่เป็นประจำทุกปี และต้องขนคนไป ซึ่งใช้งบจำนวนมาก ก็ขอให้ยกเลิก ยกเว้นการแข่งขันระดับนานาชาติ เชื่อว่าจะทำให้มีเงินเหลือจ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาส่วนอื่น

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า ตนมีนโยบายจะนำเงินส่วนนี้ไปปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงดูแลคุณภาพชีวิตครู โดยเฉพาะบ้านพักครูซึ่งหลายแห่งทรุดโทรม ต้องปรับปรุง ขณะที่ปีนี้จะมีครูเกษียณราว 20,000 คน รวม 10 ปีจะมีครูเกษียณ 200,000 คน เมื่อมีครูเกษียณ ต้องมีครูย้ายเข้าใหม่ ซึ่งครูเหล่านี้ ต้องมาอยู่บ้านพักครู แต่มีปัญหาที่พักไม่พอ หรือบางแห่งทรุดโทรม ศธ.ได้ซ่อมบำรุงมาตลอด แต่ตอนนี้ดูแล้วว่าจำเป็นต้องสร้างใหม่ด้วย เพราะบางแห่งชำรุดจนไม่สามารถซ่อมได้ รวมถึงต้องแก้ไขระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบการเข้าพักบ้านพักครู เพื่ออำนวยความสะดวก ขณะเดียวกันจะได้แก้ปัญหาไม่ให้ครูย้ายถิ่นฐานบ่อย

“ขอให้ผู้อำนวยการ สพท.ไปสำรวจปัญหาและจำนวนบ้านพักครู เพื่อเร่งดำเนินการ ขณะเดียวกันยังต้องเดินหน้าลดภาระ ให้ครูมีเวลาสอนได้อย่างเต็มที่ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป ครูไม่ต้องทำงานธุรการ สพฐ.ได้เตรียมงบกว่า 3 พันล้านบาท ในการจ้างครูธุรการและภารโรงให้ครบทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ขณะที่เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง โรงเรียนขนาดใหญ่ หากยังสามารถดำเนินการได้ ก็ให้ทำต่อไป ส่วนโรงเรียนอื่นๆ ให้สพท.รับไปดำเนินการแทน จากนี้ไม่นานจะมีการเลือกตั้ง ผมพูดแบบนี้ไม่ได้จะมาหาเสียง เพราะไม่ใช่นักการเมือง แต่ที่เป็นห่วงคือกลัวว่าเมื่อนักการเมืองเข้ามา จะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง ดังนั้นถ้านักการเมืองจะมารื้อ ก็ขอให้ทุกคนช่วยประท้วง เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตครูดีขึ้น” นพ.ธีระเกียรติกล่าว

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่อยากย้ำ คือการทำตามกฎหมายใหม่ ขณะนี้กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้แล้ว ที่ผ่านมาโรงเรียนและครู มีปัญหากับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มาโดยตลอด แต่ต่อไปนี้จะไม่มีแล้ว ทุกโรงเรียนจะเป็นหน่วยประกันคุณภาพภายในตัวเอง จะไม่มีการประกันคุณภาพภายในจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีก ผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด จะต้องรู้ตัวว่าโรงเรียนมีคุณภาพระดับใด โดยมีหลักฐานสนับสนุน ส่วน สมศ.มีหน้าที่เข้าไปดูว่า โรงเรียนมีคุณภาพตามที่บอกหรือไม่ เพื่อเสนอแนะและปรับปรุง แต่หากดีเลิศอยู่แล้ว ก็เป็นคำแนะนำในลักษณะคงคุณภาพ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์