บทบาทภารกิจ กสศ. สร้างความเสมอภาคการศึกษา

เพราะการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ในการปฏิรูปประเทศ เรื่องนี้จึงมีความสำคัญและมีความท้าทาย ทำให้การปฏิรูปการศึกษาเป็น 1 ใน 2 เรื่องที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

เนื่องจากรัฐธรรมมูญ มาตรา 54 กำหนดให้จัดตั้ง “กองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู” โดยให้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 ปีหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

“ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในเวทีการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ครั้งที่ 1 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ว่า

“ความเสมอภาคของการศึกษา เป็นชื่อที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เลือกเป็นชื่อของกองทุนนี้ เพราะต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่ทุกภาคส่วนที่ต้องช่วยกันทำให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศในปัจจุบัน”

“โดยความเสมอภาคทางการศึกษา ถือเป็นสิทธิของประชาชนที่ควรจะได้รับและเข้าถึง อีกทั้งต้องได้รับการพัฒนาอย่างเสมอภาคทั่วถึง ตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ และปัญหานี้ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะทุกวินาทีคือการเสียโอกาสชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยกว่า 4 ล้านคน หรือราว 1 ใน 3 ของประชากรเด็กเยาวชนวัยเรียนในประเทศ เพราะยังมีเด็กไทยที่มีศักยภาพราว 670,000 คนที่ยังคงอยู่นอกระบบการศึกษาอยู่ หรือราว 5% ของประชากรในวัยเดียวกัน ถือเป็นการเสียโอกาสชีวิตที่น่าเสียดาย”

ทั้งนี้ องค์การยูเนสโกประเมินว่า การที่เด็กเยาวชนไทยมีศักยภาพ แต่ต้องหลุดออกจากระบบเช่นนี้ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 1.7ของ GDP หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี

“ดร.ประสาร” กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้เองบทบาทของ กสศ.จึงมุ่งเสนอแนะมาตรการและผลการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เน้นการลงทุนโดยใช้ความรู้เป็นตัวนำ เพื่อช่วยเหลือและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประชากรกลุ่มเป้าหมายด้วยการจัดการ 3 ปัจจัยหลัก ที่เป็นต้นเหตุความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทย ได้แก่

หนึ่ง ขจัดอุปสรรคต่อความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ของกลุ่มเป้าหมายผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส

สอง สนับสนุนโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา และการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพให้แก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่มีศักยภาพสูง

สาม เสริมสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพครูและสถานศึกษาให้มีความพร้อมในการจัดการศึกษาให้แก่กลุ่มเป้าหมายของกองทุน

ส่วนหลักการในการดำเนินงานของ กสศ.จะมี 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1) การใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) โดยจะมีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาระดับชาติ (Information System for Eq-uitable Education-iSEE) เชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐ เพื่อการค้นหา คัดกรอง ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการทำงานของกองทุนในระยะยาว

โดยมีข้อมูลครอบคลุมทุกมิติในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งระบบ iSEE จะช่วยให้เราสามารถมองเห็นเด็กเยาวชนและประชาชนทุกคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกองทุน ไม่ให้มีเด็กเยาวชนถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกแม้แต่คนเดียว

2) การร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ตั้งแต่การกำหนดแผนสู่การปฏิบัติ การติดตามการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในมิติของกลุ่มคนและเชิงพื้นที่

3) การดำเนินการที่โปร่งใสมีระบบธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลที่รอบคอบ กองทุนจะมีการนำเทคโนโลยีด้านระบบการชำระเงินที่ก้าวหน้า โดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และ GIS ป้องกันการทุจริตและลดความรั่วไหลของการใช้งบประมาณ

4) ความเป็นอิสระในการดำเนินงานและการสนับสนุนงบประมาณ และถ้าหากไม่มี 2 สิ่งนี้แล้วกองทุนใหม่นี้ก็อาจจะเป็นเพียงหนึ่งกลไกแบบเดิม ๆ ที่จะไม่ให้ผลลัพธ์ต่างจากที่เคยเป็นมา

ถึงตรงนี้ “ดร.ประสาร” บอกว่า สำหรับเป้าหมายในการทำงานระยะ 14 เดือนข้างหน้าจะให้ความสำคัญกับเรื่องดังต่อไปนี้

“การขจัดอุปสรรคต่อความเสมอภาคทางการศึกษาของนักเรียนยากจนพิเศษจำนวนประมาณ 620,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมาทำให้มีข้อมูลรายบุคคลของนักเรียนในสังกัด สพฐ.จำนวนกว่า 1.6 ล้านคนทั่วประเทศ ที่ครอบครัวมีสถานะยากจน โดยประเมินจากรายได้ต่อครัวเรือนที่ต่ำกว่า 3,000 บาท/คน/เดือน มีสภาพที่อยู่อาศัยที่ทรุดโทรม ผู้ปกครองไม่มีรายได้ รวมทั้งไม่มีรถยนต์และที่ดินทำกินเกิน 1 ไร่”

“จำนวนนี้มีนักเรียนอยู่ราว 620,000 คนที่ผู้ปกครองมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,281 บาทต่อคน หรือเฉลี่ยเพียงวันละ 42.7 บาทเท่านั้น ซึ่งต้องได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนโดยเร่งด่วน ก่อนจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ทั้งนี้ ยังจะมีการ X-ray พื้นที่ 15 จังหวัดค้นหาเด็กเยาวชนอายุ 3-18 ปีที่อยู่นอกระบบการศึกษา 100,000 คน เพื่อส่งต่อสู่ระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพด้วยการค้นหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบปกติ หรือการฝึกพัฒนาทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความถนัด และศักยภาพของเด็กเป็นรายคน”

“สุดท้ายเป็นการสนับสนุนทุนการศึกษาสายอาชีพ สำหรับนักเรียนยากจนระดับ ม.3 ที่มีศักยภาพสูง 12,000 ทุนในแต่ละปี เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนยากจนที่มีศักยภาพสูงมีโอกาสในการศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับ ปวส.เป็นอย่างน้อย โดยจะร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศร่วมกันพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่เมื่อจบแล้วให้สามารถทำงานได้ทันที”

อันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเยาวชนและครอบครัวให้หลุดพ้นความยากจน โดยการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคด้านการศึกษา ซึ่งเป็นบทบาท ภารกิจ และเป้าหมายการทำงานของ กสศ.ที่จะเห็นในระยะเวลาอันใกล้นี้