ร.ร.สาธิตพระจอมเกล้า เตรียมพร้อมนักเรียนสู่มหา’ลัย

โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ขยายโควตาสำหรับนักเรียนสาธิตฯรองรับความต้องการทรัพยากรด้านวิชาชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้งยังจัดโครงการ Summer Research Fellowship เพื่อให้นักเรียนระดับมัธยมปลายไปแลกเปลี่ยนในระดับอุดมศึกษาเพื่อเรียนรู้ และทำงานเชิงวิจัยในคณะ และมหาวิทยาลัยที่ตนเองมีความสนใจช่วงปิดเทอม

“รศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย” ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันทางการศึกษากำลังเพิ่มสูงขึ้น นอกจากการที่โรงเรียนมีระบบการเรียนการสอนมีคุณภาพ มีเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่เอื้ออำนวยแล้ว อีกหนึ่งในปัจจัยสำหรับเยาวชน คือ โอกาสการศึกษา 


“ที่ผ่านมา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ร่วมกับโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า ได้จัดโครงการPATHWAY to KMITL เป็นโครงการโควตารับตรงพิเศษ สานฝันสำหรับนักเรียนสาธิตฯ เนื่องจากนักเรียนจำเป็นต้องมีทักษะสำหรับโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านภาษา ทักษะการประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ ทักษะความเป็นผู้นำ กล้าคิดกล้าแสดงออก”

“ทั้งยังประกาศโควตารับตรงใน 4 คณะ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์ และวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของบุคลากรด้านวิชาชีพในปัจจุบัน โดยทาง สจล.ยังขยายโควตาดังกล่าวเพิ่มขึ้น เพื่อให้นักเรียนโรงเรียนสาธิตฯที่ต้องการศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรอินเตอร์ ของ สจล. จำนวน 5 ที่นั่งโดยจะเริ่มต้นใช้ในปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป”


“นอกจากนี้ โรงเรียนสาธิตฯยังมุ่งมั่นพัฒนาทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านโครงการ Summer Research Fellowshipที่เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมปลาย (เกรด 10) ของโรงเรียน สามารถใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมไปแลกเปลี่ยนในระดับอุดมศึกษา เพื่อเรียนรู้ และทำงานเชิงวิจัยในคณะที่ตนเองมีความสนใจ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาศักยภาพด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงร่วมกับพี่ ๆ ในระดับอุดมศึกษา จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ”

“รศ.ดร.สุรินทร์” กล่าวอีกว่า ทางโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้าจะประสานงานไปยังคณะต่าง ๆ ในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำตามความสนใจของนักเรียนและจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายการประสานงาน ค่าใช้จ่ายคณาจารย์ผู้สอน ตลอดจนค่าใช้จ่ายการร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อป และการทำแล็บวิจัยทั้งหมด

“โครงการนี้เราเริ่มต้นนำร่องใช้ในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา โดยมีนักเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก อาทิ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการกับคณะต่าง ๆ ในสังกัดของ สจล.  ทั้งคณะวิทยาศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะอุตสาหกรรมเกษตร และวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติอีกด้วย”

อันเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนมีศักยภาพ และมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่ออย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป