“สสวท.” เดินหน้าปั๊มนักวิทย์ มุ่งสร้างคนคุณภาพป้อนยุค 4.0

ทักษะการคิดอย่างวิทยาศาสตร์สามารถปลูกและปั้นได้ในตัวเยาวชน โดยต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งการรู้จักคิด วิเคราะห์ หาข้อมูล วางแผน และแก้ปัญหา จะเป็นภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตที่เข้มแข็งในโลกยุคดิจิทัล

ในทางเดียวกัน ทิศทางการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ก็ต้องปรับให้ทันกับสังคมและโลกที่เปลี่ยนไป โดย “ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์” ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในงานเสวนา “สสวท.ปั้นนักคิด วิทย์สร้างภูมิ (คุ้มกัน)” ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2561 ว่า เป้าหมายการทำงานของ สสวท.มุ่งที่คุณภาพของ “ผลผลิต” คือนักเรียนไทยได้รับการพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี

โดยมีความสามารถ และมีทักษะในการนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิต รวมถึงสร้างอาชีพ และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนมีทักษะในการใช้ชีวิตโดยไม่ติดกับดักของผลกระทบจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี

“การเรียนรู้ในวันนี้ต้องสร้างเด็กไทยให้มีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างนวัตกรรมที่แข่งขันได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวของโลกยุคดิจิทัล หรือสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิต ดังนั้น เด็กไทยต้องมีทักษะด้านวิทยาศาสตร์การคำนวณ (computing science) เพื่อได้กระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และสามารถรับมือกับปัญหาที่มีความซับซ้อนได้”

ขณะเดียวกัน ชั้นเรียนของเด็กยุคใหม่ก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้เข้าถึงใจผู้เรียน สสวท. จึงพัฒนาลูกเล่นของหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ ด้วยการสร้างความเข้าใจและเข้าถึงผู้เรียนได้ง่ายขึ้นผ่าน AR (augmented reality) มาใช้อธิบายเนื้อหาที่เป็นนามธรรมให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นเช่น ภาพเสมือน 3 มิติ อันเป็นจุดเด่นของเทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้ในหนังสือเรียน ซึ่งนอกจากจะดึงดูดความสนใจของเด็ก ๆ แล้ว ยังเป็นการฝึกใช้เทคโนโลยีศตวรรษที่ 21 อีกด้วย

พร้อมกันนี้ สสวท.ได้สร้างโมเดลนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยรุ่นใหม่ขับเคลื่อนไทยด้วยนวัตกรรม ผ่านโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.)

โดยบัณฑิตที่เป็นผลผลิตจากโครงการนี้จะเข้ามาเป็นพลังของประเทศ ในการสร้างนวัตกรรมที่ต่อยอดการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ยกระดับคุณภาพและเพิ่มรายได้ภาคการผลิตและการบริการ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน

“ในประชากร 100 คน มีคนที่คุณสมบัติเหมาะเป็นนักวิทยาศาสตร์ 1 คน ถ้าเราหาเขาเจอ ต้องบ่มเพาะให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการเรียนรู้ และสนับสนุนสู่สายงานอาชีพอย่างเต็มศักยภาพ คนกลุ่มนี้เป็นทรัพยากรที่หาได้ยากยิ่งกว่าน้ำมัน นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะเดินหน้าสำเร็จได้ต้องหาคนกลุ่มนี้ให้พบ พร้อมส่งเสริมโอกาสให้สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ”

“ทักษะและการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ควรมีอยู่ในทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ โดยลักษณะการเรียนรู้ให้เป็นไปตามกลุ่มอาชีพ และความจำเป็นในการใช้งาน เช่น แพทย์ วิศวกร นักวิจัย ต้องเรียนเข้มข้น ส่วนกลุ่มอาชีพอื่นก็ให้เขาเรียนรู้และเข้าใจตามที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตและอาชีพได้อย่างเหมาะสม”

“ศ.ดร.ชูกิจ” เน้นย้ำว่า ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ของเด็กไทยให้ตอบโจทย์มากขึ้น เพื่อสร้างนักคิดที่มีทักษะ และความรู้เท่าทันสังคมโลกที่เปลี่ยนไป สามารถใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและการทำงานให้เข้าถึงเป้าหมายของการพัฒนายุคไทยแลนด์ 4.0