“มจธ.” ปักธงโมดูลทั้งระบบ ปูพรมเจาะตลาดวัยทำงาน

1-2 ปีที่ผ่านมา หลายมหาวิทยาลัยปรับตัวอย่างหนัก เพื่อพาตัวเองกระโดดจากวิกฤตสถาบันอุดมศึกษาที่จำนวนเด็กลดลงทุกปี ดังนั้น ภาพการปรับโมเดลธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ

จึงมีมาให้เห็นเป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของโครงสร้างการบริหารงาน หลักสูตร หรือรูปแบบการเรียนการสอน

ล่าสุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้พลิกมิติการศึกษา ด้วยการนำการเรียนแบบโมดูล(module) มาใช้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี จากเดิมที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า การเรียนแบบโมดูลนั้นนิยมใช้กับหลักสูตรระดับปริญญาโทเท่านั้น

การเรียนแบบโมดูลเป็นเทรนด์ที่ มจธ.มองมานานแล้ว เพียงแต่รอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม เมื่อบวกกับการเห็นดีมานด์จากภาคเอกชนที่ต้องการเพิ่มทักษะให้กับพนักงาน โดยไม่ยึดติดกับการได้ดีกรี จึงทำให้ มจธ.เดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“เรากำลังมองว่าเทรนด์การเรียนเปลี่ยนไปแล้ว คนไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนแบบแพ็กเกจใหญ่ หรือครบทุกวิชา เพื่อให้ได้ปริญญา เพราะที่จริงแล้ว เขาอาจอยากรู้เพียงไม่กี่เรื่อง เพื่อเอาไปต่อยอดในการทำงาน”

“รศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร” รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา มจธ. มองถึงการเรียนแบบใหม่พร้อมให้ข้อมูลว่า การเรียนแบบโมดูล คือ การแตกหลักสูตรออกมาเป็นชุดการเรียนรู้ย่อย ๆ แต่ละชุดมีการกำหนด outcome ของผู้เรียนชัดเจนว่า เมื่อเรียนจบแล้วต้องมีความสามารถในด้านใดบ้าง

แผนการดำเนินงานของ มจธ.ต่อเรื่องนี้  แบ่งเป็น 2 ด้านหลัก ทางหนึ่งเป็นการรับฟังความต้องการของบริษัทว่าต้องการคนที่มีคุณสมบัติอย่างไร และอีกด้านจะยกเครื่องหลักสูตร โดยให้กลุ่มวิชาพื้นฐานแยกคอร์สการสอนออกมาเป็นโมดูล แล้วในการออกแบบหลักสูตรจะให้นำแต่ละโมดูลมาผสมผสานกัน ไม่ได้อิงการเรียนเป็นวิชาเหมือนเมื่อก่อน

“วางไว้ว่าอีก 6 เดือนข้างหน้า เราจะต้องมีคอร์สที่ขายให้เอกชนได้ และใน 1 ปีจะต้องทำให้เกิดการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า micro-credentials โดย credentials คือ ปริญญาบัตรต่าง ๆ ที่ มจธ.มีอยู่ ก็ให้แตกออกมาว่า การได้ปริญญาบัตรนี้ ผู้เรียนต้องมีความสามารถอย่างไรบ้าง แล้วเราก็มีหลักสูตรให้เขาเลือกเรียนตามความสนใจ ต่อจากนี้ไป นักศึกษาไม่ได้เรียนแบบสังกัดสาขาแบบเดิม”

“แต่ละโมดูลถือว่าเป็น micro-credentials ของ credentials ใหญ่ หากต้องการเรียนเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ ก็ค่อย ๆ เก็บแต่ละโมดูล แต่ถ้าต้องการได้ประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตร จะมีคณะกรรมการพิจารณาว่าโมดูลที่เก็บมานั้นครบถ้วนตามเกณฑ์ที่วางไว้หรือไม่ หากยังขาดสมรรถนะตามเป้าหมายก็ต้องไปเรียนเพิ่มเติม”

“รศ.ดร.บัณฑิต” กล่าวว่า credentials ของผู้เรียนนั้นไม่มีกำหนดระยะเวลา ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้เรียนว่าจะเก็บการเรียนแบบโมดูลได้เร็วแค่ไหน โดย มจธ.จะนำร่องกับสาขาดิจิทัลก่อนในปีหน้า เพราะเห็นดีมานด์จำนวนมากของตลาดต่อคนที่มีทักษะด้านนี้

“อนาคต มจธ.อาจไม่มีสาขาวิชา หรือคณะเลย มีเพียงปริญญาบัตรที่วางไว้ให้เป็นกรอบ หน้าที่ของเราคือทำชุดการเรียนรู้ย่อย ๆ ให้อัพเดตตลอดเวลา พร้อมให้คนสามารถเข้ามาเรียนได้เลย โดยจะมาเรียนที่มหาวิทยาลัยก็ได้ หรือเรียนผ่าน MOOC (Massive Open Online Course)พร้อมกับการพูดคุยปรึกษากับอาจารย์”

อย่างไรก็ดี ความท้าทายของมหาวิทยาลัย คือ การสอนและการวัด credentials ซึ่งจะมี Professional Standard Framework ด้านการสอนและการเรียนรู้ในการพัฒนาอาจารย์ โดยประเมินว่าอาจารย์มีสมรรถนะการสอนระดับไหน ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น, ระยะที่ มจธ.ต้องการ, ระยะสูง และระยะสูงสุด ซึ่งแต่ละขั้นจะระบุชัดเจนถึงทักษะของอาจารย์

ดังนั้น อาจารย์ มจธ.ไม่เพียงต้องมีตำแหน่งทางวิชาการ แต่ต้องมีสมรรถนะการสอนถึงระดับที่มหาวิทยาลัยยอมรับด้วย

“โมเดลหลักสูตรของ มจธ.จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ การเรียนแบบเดิม อีกกลุ่มเป็นการเรียนแบบโมดูล ซึ่งคาดว่าสัดส่วนผู้เรียนของกลุ่มแบบโมดูลในช่วงแรกจะอยู่ที่ 10% และค่อย ๆ เติบโตมาอยู่ที่ 50% ในอีก 3 ปีข้างหน้า เพราะดีมานด์ตลาดสูงมาก”

“ด้วยความที่ไทยกำลังเข้าสู่ยุค 4.0 จึงต้องเตรียมคนที่อยู่ใน workforce ขณะเดียวกัน จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงก็เป็นปัจจัยหนุนเช่นกัน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้เรียนหลักสูตรแบบโมดูล คือ วัยทำงาน รวมถึงกลุ่มคนที่เรียนจบด้านสังคมศาสตร์ และต้องการเสริมองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

“รศ.ดร.บัณฑิต” บอกว่า มจธ.กำลังสร้างหลักสูตรที่สอดคล้องกับงานในอนาคต และการทำเป็นโมดูลจะทำให้การปรับหลักสูตรคล่องตัวมากขึ้น หากองค์ความรู้นั้น ๆ กำลังเปลี่ยนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า มหาวิทยาลัยก็สามารถเตรียมตัวปรับเปลี่ยนคอร์สได้ทันที

“เราไม่ได้เปลี่ยนแกนหลักของหลักสูตรแต่เปลี่ยนเนื้อหาที่อยู่ในนั้นให้ทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยนำ OBE (Outcome Based Education) มาเป็น framework เพื่อเช็กว่าสิ่งที่เราทำนั้นทันสมัย และได้คุณภาพหรือไม่ ถ้ามองเห็นว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็แก้เนื้อหาของโมดูลนั้น ๆ ได้เลย”

“หาก มจธ.ทำการสอนแบบโมดูลได้สำเร็จ ถือว่าเป็นการพลิกภาพ มจธ. และจะเป็นภาพใหม่ของอุดมศึกษาว่าจะอยู่ได้อย่างไรท่ามกลางวิกฤตของอุดมศึกษาที่ต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองให้ฟิตกับโลกดิจิทัล”

“มจธ.จะเป็นคีย์หลักสำคัญในการสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทันต่อความต้องการในการพัฒนาประเทศ และพัฒนาโลก ดังนั้น เราต้องสร้างคนให้ออกไปทำงานในโลกอนาคตได้ และสร้างองค์ความรู้ที่สามารถพร้อมใช้งานได้ทันที”

โดยกระบวนการเหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเดินหน้าเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน