“แสนสิริ” ปั้นเด็กด้วย Agile เรียนรู้เสมือนทำงานจริง

การฝึกงานถือเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาว่าที่คนทำงานในอนาคตให้พร้อมลงแข่งในสนามการทำงานของจริง ส่วนนักศึกษาจะซึมซับประสบการณ์ได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการทำงานแต่ละองค์กรที่แตกต่างกันออกไป เราอาจเคยได้ยินกันว่า จุดเริ่มต้นของนักศึกษาฝึกงานคือ งานถ่ายเอกสาร และอาจจะกลายเป็นหน้าที่ประจำตลอดช่วงเวลาการฝึกงาน ซึ่งในกรณีนี้ถือว่าทั้งนักศึกษารวมถึงองค์กร ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากงานนี้ และอาจทำให้องค์กรพลาดที่จะได้คนเก่งมาร่วมงานในอนาคตอย่างน่าเสียดายด้วย

แต่สำหรับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้การทำงานของนิสิตนักศึกษาอย่างจริงจัง และแสนสิริก็พิสูจน์ความจริงจังในขั้นตอนการฝึกงานของนักศึกษาด้วยโปรแกรม โครงการนักศึกษาฝึกงาน “Sansiri In-ternship” มาตั้งแต่ปี 2553 ที่สร้างเวทีการเรียนรู้เสมือนจริงให้กับนักศึกษาฝึกงาน

“ปิยะวดี วรรธนาคม” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์และบริหารสำนักงาน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโครงการ Sansiri Internship Program มาจากการเห็นปัญหาที่ว่า นักศึกษาฝึกงานไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการทำงานจริงได้ จึงเปิดรับนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 จากทุกสาขาและทุกสถาบันในประเทศ ให้มาเรียนรู้การทำงานกับแสนสิริ โดยมีทีมสอนที่ได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะ ซึ่งกว่า 1,000 คน สมัครผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กและสมัครผ่านสถาบันการศึกษา

“ปีนี้แสนสิริมีแนวทางการทำงานใหม่ที่เรียกว่า agile transformation : new way of working ที่เป็นการทำงานเน้นความคล่องตัว สอดรับกับวัยทำงานที่เข้าสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในยุคมิลเลนเนียลที่ชื่นชอบความอิสระ แนวทางนี้คือ การได้ลงมือปฏิบัติงานจริง กับโปรแกรมการฝึกงานแบบครบจบรอบด้าน 360 องศา กับการเรียนรู้งานจากหลายแผนกแบบข้ามสายงาน (cross-functional) เติมเต็มประสบการณ์การทำงานกับมืออาชีพ จากรุ่นพี่ในองค์กรที่จะทำหน้าที่เป็นโค้ช ที่สำคัญคือแม้แต่โค้ชก็ต้องผ่านขั้นตอนการฝึกงานมาอย่างเข้มข้นด้วยเช่นกัน”

“ปิยะวดี” ให้ข้อมูลต่ออีกว่า ด้วยความที่เราจำกัดจำนวนผู้เรียนต่อโค้ชอยู่ที่ 2 ต่อ 1 ทำให้ไม่สามารถรับนักศึกษาฝึกงานได้เกินปีละ 120 คน แต่ในอนาคตได้วางแผนจะเพิ่มจำนวนโค้ช เพื่อจะเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาฝึกงานมากขึ้น สิ่งที่แสนสิริให้ความสำคัญคือ ไม่ต้องการให้เรียนรู้การทำงานแบบในอดีต นั่นคือแบบ water fall ที่แต่ละฝ่ายแยกการทำงานตามสายงาน ตามกระบวนการของตน แล้วนำผลงานมารวมกัน ทำให้ยากต่อการออกแบบทั้งในเรื่องเวลา งบประมาณ ยากต่อการปรับเปลี่ยน และเมื่อพบข้อผิดพลาดต้องรื้อทำใหม่หมด

ฉะนั้น สิ่งที่จะต้องสอนให้กับนักศึกษาฝึกงานคือ “agile way of working” รูปแบบนี้คือ การแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่ม และแต่ละกลุ่มจะมีคนจากแต่ละแผนกทำงานรวมกัน ที่เป็นการทำงานของหลายส่วนรวมกัน เน้นการมีส่วนร่วม ระดมความคิด ลดขั้นตอน เพื่อฝึกให้กล้าเผชิญความผิดพลาด และพร้อมแก้ไขแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” 

ทั้งนี้นักศึกษาฝึกงานจะได้เรียนรู้ใน 3 ฝ่ายที่สำคัญขององค์กร ได้แก่ ฝ่ายพัฒนาโครงการ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ และฝ่ายการตลาด และได้เรียนรู้กระบวนการทำงานหรือ know-how แบบครบขั้นตอนจากการเห็นภาพรวมของกระบวนการทำงานทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ได้เฉพาะเพียงทักษะเชิงลึกในสายงานที่ตนศึกษาอยู่เท่านั้น

เพราะเราอยากสร้างพวกเขาให้มีทักษะที่คนรุ่นใหม่ควรมีในการทำงานคือ การประสานงาน ทีมเวิร์ก การนำเสนอ และวิเคราะห์ ทั้งนั้น Sansiri Internship ไม่ได้มีข้อผูกมัดว่าน้อง ๆ ต้องทำงานกับเรา แต่สิ่งที่น้อง ๆ เรียนรู้จากเราจะติดตัวพวกเขาไป เพื่อใช้กับการทำงานในอนาคตหลังจากจบการศึกษา

ขณะที่ “ชนาพร ธรรมสิทธิ์บูรณ์” นิสิตฝึกงานฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การฝึกงานกับฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจที่แสนสิริจะเน้นการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ ช่วงแรกของการฝึกงานจะเป็นการสอนพื้นฐานของการใช้เครื่องมือต่าง ๆ อย่างเข้มข้น เมื่อมีทักษะมากขึ้น จึงได้รับมอบหมายโจทย์ในการเรียนรู้ที่ท้าทายมากขึ้น โดยการให้นักศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเกิดการตั้งคำถามฝึกคิด ฝึกตัดสินใจ ตั้งแต่การเริ่มตั้งโจทย์ การวิเคราะห์ผล และการนำไปพัฒนาโครงการต่อ

“ในกระบวนการนี้เองทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้และนำแนวทางการทำงานแบบ agile และนอกจากการทำงานในออฟฟิศแล้ว ยังได้รับโอกาสในการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง อย่างการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานในการเก็บข้อมูลลูกค้าในการเปิดตัวโครงการ XT ซึ่งคาดว่าจากประสบการณ์ในการเรียนรู้ทั้งหมดนี้ จะช่วยสร้างพัฒนาการด้านการทำงานได้ดีมากขึ้นในอนาคต”

ภายหลังจากเข้ารับการฝึกงานในรูปแบบดังกล่าวแล้ว “ธนานพ เมฆคุ้ม” นักศึกษาฝึกงานฝ่ายการตลาดองค์กร จากคณะคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ฝึกงานกับฝ่ายการตลาดองค์กรที่เน้นด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งที่จริงแล้วอาจเป็นงานที่ไม่ตรงกับสายงานที่เรียนมา แต่แสนสิริก็ไม่ได้จำกัดโอกาสและให้เข้าฝึก ซึ่งจะมีโจทย์งานที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้รับผิดชอบงานในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มทำการวิจัย ตั้งคำถาม และเก็บข้อมูล พร้อมนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์หาผลสรุป และทางทีมจะนำผลที่ได้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับลูกค้าต่อไป”

“งานที่ได้รับมอบหมายจะมีทั้งงานที่เป็นโครงการพิเศษ และงานประจำวัน ซึ่งทำให้ได้เห็นภาพการทำงานจริง ๆ รวมไปถึงการดูแลของโค้ชที่จะเริ่มตั้งแต่การให้โจทย์ คอยให้คำปรึกษาตลอดการฝึกงาน ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถสร้างผลงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคอยแนะนำจุดเด่นจุดด้อยของงานตลอดระยะเวลาการฝึก”

ทั้งหมดนี้ทำให้แสนสิริเชื่อว่า การฝึกงานที่ดีจะต้องช่วยให้นิสิตนักศึกษามีประสบการณ์เรียนรู้งานหลายด้าน ทำให้เข้าใจระบบการทำงาน และได้รู้ว่าตัวเองจะก้าวลงสู่สนามการทำงานด้านใดที่ตอบโจทย์ตัวเองและได้งานที่ตัวเองชอบ และถนัดอย่างแท้จริง