ทุนการศึกษา “มิตรผล” พัฒนา น.ศ.รับอุตสาหกรรมเกษตร

เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงาน เพราะจำนวนแรงงานที่อยู่ในวัยทำงานลดน้อยลง โดยเฉพาะภาคการเกษตร จากข้อมูลภาวะสังคมไทยไตรมาสแรกประจำปี 2560 ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตร และการปรับตัวของภาคเกษตร การจ้างงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปัญหาโครงสร้างแรงงาน

โดยช่วง 4 ปีผ่านมา แรงงานเกษตรลดลง 1.3 ล้านคน ยิ่งเฉพาะแรงงานช่วงอายุ 30-49 ปี ลดลง 0.99 ล้านคน ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากภาวะภัยแล้ง ในช่วงปี 2557-2559 ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายออกไปทำงานนอกภาคเกษตรมากขึ้น

ขณะที่แรงงานที่จะเข้ามาทดแทน และกลุ่มแรงงานสูงวัยอายุ 50 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลง ทั้งพื้นที่เพาะปลูกก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตร 151.0 ล้านไร่ ในปี 2546 ปัจจุบันเหลือเพียง 149.2 ล้านไร่ ในปี 2556 เฉลี่ยคือลดลงปีละ 0.16 ล้านไร่

แม้ว่าภาคการเกษตรของประเทศไทยเปรียบเสมือนเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่เรื่องกรอบความคิด (Mindset) ของคนที่อยู่ภายในภาคเกษตรกรรม และภายนอก มักมองว่าเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มีความยากลำบาก มีรายได้ที่ไม่มั่นคง และไม่มีความต่อเนื่องในระยะยาว

จึงส่งผลทำให้การเข้าถึงข้อมูล และองค์ความรู้ต่าง ๆ ลดน้อยลง ที่สำคัญยังทำให้แรงงานรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำงานในกลุ่มนี้ลดลงอีกด้วย

แม้รัฐบาลจะให้ความสำคัญ และมุ่งพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จนส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง Landscape ของประเทศในภาพรวม โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนากำลังคน และกำลังแรงงานในอนาคต

จากหลาย ๆ ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นเรื่องของแรงงานเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อการบริหารองค์กรในยุคปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้กลุ่มมิตรผลจึงมีการวางแนวทางรับมือกับปัญหาแรงงานในภาคการเกษตรหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ “โครงการมอบทุนการศึกษากลุ่มมิตรผล”

“บวรนันท์ ทองกัลยา” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ภาคเกษตรกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ หากมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ดี รวมถึงการสร้างแรงจูงใจในด้านต่าง ๆ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์อนาคตของประเทศได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้กลุ่มมิตรผลเองมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และถือว่าเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจ

“ไม่เพียงเท่านี้ การเตรียมบุคลากรในอนาคตขององค์กร และของประเทศให้มีความพร้อมต่อการทำงานภาคธุรกิจการเกษตรยังถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการมอบทุนการศึกษาของกลุ่มมิตรผล ที่ไม่ใช่เป็นเพียงมอบแค่เงินทุน แต่เป็นการพัฒนาด้านทักษะต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการจัดการเกษตรสมัยใหม่”

แต่ละปีกลุ่มมิตรผลมอบทุนการศึกษาจำนวนมาก โดยปี 2560 เรามอบทุนการศึกษารวมทั้งสิ้น 461 ทุน มูลค่ากว่า 11 ล้านบาท ประกอบด้วย ทุนบุตรเกษตรกร ที่มอบให้ลูกหลานเกษตรกรที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือเป็นพาร์ตเนอร์ และคู่ค้าที่สำคัญของมิตรผล เพื่อให้ลูกหลานของเขาให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร และเข้าถึงองค์ความรู้การจัดการสมัยใหม่

“ทุนโครงการพัฒนาวิชาชีพ นักศึกษาระดับอาชีวศึกษา (ทุนโครงการทวิภาคี) ถือเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวะ และกลุ่มมิตรผล ซึ่งเราเองเข้าไปช่วยพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน โดยใช้มาตรฐานวิชาชีพแบบเยอรมัน ในการพัฒนานักศึกษาระดับอาชีวะของกลุ่มมิตรผล”

ปัจจุบันมีนักศึกษาในระดับ ปวส.ที่ได้รับทุนนี้กว่า 336 คน ในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสาขาพืชศาสตร์, ช่างกลการเกษตร, เทคนิคเครื่องกล, ไฟฟ้ากำลัง และเมคคาทรอนิกส์

ขณะที่ทุน MitrPhol Career Camp เป็นทุนที่มอบให้นิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่นิสิต นักศึกษา และเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ ดูงาน และฝึกทักษะการทำงานกับบริษัทในกลุ่มมิตรผล อีกทั้งยังมีทุนที่มอบให้บุตรหลานพนักงาน โดยแบ่งเป็นระดับต่ำกว่าปริญญาตรี และระดับปริญญาตรีอีกด้วย

“บวรนันท์” กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้กลุ่มมิตรผลจะมอบทุนการศึกษาจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การสนับสนุนเรื่องของการศึกษาในภาพรวมเท่านั้น แต่เป็นการเตรียมความพร้อมนิสิต นักศึกษา ให้มีทักษะ และความพร้อมใหม่ ๆ ในอนาคต เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ (Productivity) สูง

“ตัวอย่าง เช่น ทุนบุตรเกษตรกร ผู้ที่ได้รับทุนจะต้องมาเรียนรู้ และฝึกงานจากพื้นที่จริงกับกลุ่มมิตรผล ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการไร่แบบสมัยใหม่ ทั้งนวัตกรรม เทคโนโลยีที่เป็น Modern Farm”

“ส่วนทุนทวิภาคี ที่นอกจากจะเรียนทฤษฎีในห้องเรียนเป็นระยะเวลาอีก 1 ปี และในอีก 1 ปี น้อง ๆ กลุ่มนี้จะเข้ามาเรียนรู้จริงในพื้นที่หน้างานจริงกับกลุ่มมิตรผล ทั้งในเรื่อง Operation Process ภายใต้ Automation Thailand 4.0 ว่าเป็นอย่างไร มีกระบวนการ และวิธีการอย่างไรบ้าง เป็นต้น”

“อีกทั้งเรายังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการสื่อสาร และการบริหารงานระดับสากล ด้วยการเสริมทักษะ Global Skills ได้แก่ ทักษะภาษาอังกฤษ และไอที เพื่อความพร้อมร่วมงานกับสถานประกอบการต่าง ๆ และเพื่อผลักดันให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมทำงานในองค์กรระดับสากล”

ในส่วนของทุนโครงการทวิภาคี เมื่อนักเรียนสำเร็จการศึกษาจะมีการสอบวัดมาตรฐานวิชาชีพแบบเยอรมันระดับอาชีวศึกษา

โดยปีนี้มีนักเรียนทุนรุ่นที่ 1 สำเร็จการศึกษารวม 148 คน และสามารถสอบผ่าน จะได้รับมอบประกาศนียบัตรรับรองจากหอการค้าเยอรมัน-ไทย จำนวน 124 คน และนักเรียนรุ่นนี้ปัจจุบันเริ่มทำงานกับกลุ่มมิตรผลแล้ว จำนวน 113 คน

“ที่สำคัญ เรายังนำมาตรฐานวิชาชีพแบบเยอรมันระดับอาชีวศึกษา มาผูกติดกับเรื่อง Skill-Based Pay ซึ่งจะทำให้เกิดการจ่ายค่าแรงตามทักษะวิชาชีพ โดยที่นักเรียนที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพเมื่อเข้ามาทำงานกับมิตรผล จะมีการจ่ายค่าทักษะเพิ่มเติมให้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นการสร้างแรงจูงใจที่จะทำให้เขาสนใจในการพัฒนาทักษะของตนเองอีกด้วย”

ถึงตรงนี้ “บวรนันท์” บอกว่า ภายหลังจากที่นักเรียนนักศึกษาในโครงการรับมอบทุนการศึกษาสำเร็จการศึกษา กลุ่มมิตรผลยังเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้มีสิทธิที่จะเลือกที่จะทำงาน หรือไม่ทำงานกับมิตรผลก็ได้

“แต่ส่วนใหญ่เกือบ 100% ของผู้ที่ได้รับทุน จะเลือกกลับมาทำงานกับเรา เพราะการที่ได้เรียนรู้และฝึกงานในหน้างานจริง จะทำให้เกิดการ Engagement หรือเกิดความผูกพัน ทำให้รู้สึกว่า ที่นี่คือครอบครัว หรือเป็นบ้านหลังที่สองสำหรับพวกเขา”

จึงนับเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเตรียมความพร้อมของบุคลากร เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเกษตรในอนาคตอย่างน่าสนใจทีเดียว