“กยศ.” ลุยหักเงินเดือนลูกหนี้ 1 ล้านราย!!

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) กล่าวว่า ในปีงบ 2562 ตั้งเป้าหมายการชำระหนี้เงินกู้ไว้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากในปีงบ 2561 มีการชำระคืนมา 2.6 หมื่นล้านบาท โดยปีงบหน้าคาดว่ายอดชำระเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการหักเงินเดือนผู้กู้เป็นรายเดือนอย่างจริงจัง จากปีนี้นำร่องกับข้าราชการกรมบัญชีกลางไปแล้ว และเตรียมขยายไปสู่ข้าราชการทั่วประเทศในช่วงสิ้นปีนี้ รวมถึงหารือกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ในการหักเงินเดือนพนักงานเพื่อชำระหนี้คืนในช่วงต้นปี 2562

“ตามกฎหมายใหม่ กยศ. นายจ้างต้องหักเงินเดือนชำระหนี้ให้ กยศ. โดยพบว่าลูกหนี้ถูกหักเงินเดือนมีประมาณ 1 ล้านราย มีองค์กรนายจ้างถึง 1 แสนแห่ง ดังนั้นคงต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี ในการดำเนินการครบทุกราย โดยในปี 2562 คาดว่าการหักบัญชีเงินเดือนชำระหนี้ กยศ.จะได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนราย จะช่วยให้สภาพคล่องของ กยศ.ดีขึ้น ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน กยศ.มีสภาพคล่องดีขึ้นจนไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ” นายชัยณรงค์ กล่าว

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า ในปีงบ 2562 ตั้งงบให้กู้รวม 3 หมื่นล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ทั้งเก่าและใหม่รวม 6 แสนคน ขณะนี้มีผู้ค้างชำระหนี้ กยศ.รวม 3 ล้านคน ในจำนวนนี้พบว่าผิดนัดชำระและเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง 1 ล้านคน วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท ซึ่งจากกรณีข่าวครูวิภาค้ำประกันให้นักเรียนจนเกือบถูกยึดบ้าน ทำให้ทั้งลูกหนี้ และผู้ค้ำประกันตื่นตัวใช้หนี้คืน กยศ. มากขึ้น เห็นได้จากมีโทรศัพท์เข้ามาสอบถามเพิ่มขึ้นเดือนละ 2 แสนราย จากที่ผ่านมาเดือนละ 5 หมื่นราย

นอกจากนี้ยังผู้ที่เข้ามาติดต่อสำนักงาน กยศ.เพิ่มขึ้นกว่าเดิม 2 เท่าตัว อย่างไรก็ตาม จากกรณีครูวิภาทำให้ กยศ.กำลังทบทวนข้อกำหนดใหม่เกี่ยวกับผู้ค้ำประกันว่าต้องไม่เกินกี่คน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างครูวิภาขึ้นมาอีก

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า สำหรับกรณีประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี ระบุว่าไม่ได้กู้ แต่มีหมายศาลมาเรียกไกล่เกลี่ยหนี้ กยศ.นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรื้อเอกสารการกู้เพื่อมาตรวจสอบข้อมูล และดูว่าลายมือเซ็นในเอกสาร เป็นของจริงหรือไม่ หรือมีการแอบอ้าง ถ้าพบมีการปลอมแปลงลายเซ็นต้องว่าดำเนินคดีตามกฎหมาย


ที่มา : มติชนออนไลน์