“ภาวิช” ชี้อายุไม่ใช่ปัญหาใน ม.ทั่วโลก แนะใส่ให้ชัดใน กม.อุดมฯ จี้ “หมอธี” ฟันธง อย่าโยนสภาคุยเอง

จากกรณีที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สั่งการให้สภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นส่วนราชการทั่วประเทศ 58 สถาบัน แก้ไขปัญหากรณีอธิการบดี/ รักษาการอธิการบดี ที่สภาแต่งตั้งมาจากผู้เกษียณอายุราชการ หรืออายุเกิน 60 ปี โดยให้ยึดคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นบรรทัดฐาน ที่ได้พิพากษากรณีของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กาญจนบุรี ว่าอธิการบดี/ รักษาการบดีมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นส่วนราชการ จะอายุเกิน 60 ปีไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันเฉพาะ มรภ.และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) มีอยู่ 22 สถาบัน จากทั้งหมด 23 สถาบัน ที่อธิการบดี/ รักษาการอายุเกิน 60 ปี โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) นายชูศักดิ์ เอกเพชร อายุ 67 ปี รักษาการอธิการบดี มรส.ได้แสดงสปิริต ประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ล่าสุดนายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ปรึกษาที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เสนอให้ นพ.ธีระเกียรติใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกตามมาตรา 44 ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา โดยสั่งการให้สภาถอดถอนอธิการบดีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ออกจากตำแหน่ง ไม่เช่นนั้นถือว่า นพ.ธีระเกียรติละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น

เมื่อวันที่ 23 กันยายน นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า ในทางปฏิบัติทั่วโลก บุคลากรด้านวิชาการไม่ว่าดำรงตำแหน่งใด อายุไม่ใช่ข้อจำกัดในการทำงาน หากประเทศไทยนำอายุมาเป็นข้อจำกัด ถือว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลอย่างมาก เพราะโดยหลักการในเชิงบริหารมหาวิทยาลัย จะต้องการบุคคลที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ดังนั้น อายุไม่ควรเป็นข้อจำกัด อีกทั้ง กระบวนการสรรหาอธิการบดีของสภา ไม่ปิดกั้นการสรรหาบุคคลว่าต้องให้คนที่เกษียณมาเป็นอธิการบดีเท่านั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการสรรหา ต้องหาบุคคลที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งสามารถเลือกใคร อายุเท่าไหร่ก็ได้มาดำรงตำแหน่งอธิการบดี อย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษาไทยมีหลายเรื่องที่ควรพัฒนา ไม่ควรนำเรื่องนี้มาถกเถียงกันให้เสียเวลา

“ส่วนจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เมื่อกฎหมายเป็นอุปสรรค ก็ต้องไปแก้ที่กฎหมาย สามารถแก้ได้ในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … ซึ่งเป็นกฎหมายหลัก ให้แก้ไขการกำหนดคุณสมบัติ อายุของผู้มาเป็นอธิการบดีให้ชัดเจน และต้องกำหนดด้วยว่าหากมีกฎหมายเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยใดที่ขัดเเย้งกับกฎหมายฉบับนี้ ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การอุดมศึกษา เพื่อเป็นเเนวทางให้มหาวิทยาลัยที่มี พ.ร.บ.ของตัวเองปฏิบัติตาม” นายภาวิช กล่าว

นายภาวิชกล่าวอีกว่า ส่วนข้อเสนอให้ใช้มาตรา 44 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 44 ตามคำสั่งที่ 39/2559 ที่ออกมาก่อนหน้านี้ เห็นว่ามาตรา 44 แก้ไขปัญหาได้เฉพาะเรื่อง และชั่วคราวเท่านั้้น อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลว่าจะใช้มาตรา 44 บังคับใช้ในกรณีนี้ได้หรือไม่ เพราะในคำสั่งที่ 39/2559 ระบุว่าสามารถบังคับใช้คำสั่งได้ต่อเมื่อมหาวิทยาลัยมีปัญหาร้องเรียน เเละฟ้องร้องทางคดีเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และการขับเคลื่อนการปฏิรูปศึกษา แม้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.พยายามใช้กลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ให้สถาบันอุดมศึกษาแก้ไข ทบทวน หรือดำเนินการใหม่ เเต่ไม่อาจทำให้ปัญหาเหล่านี้คลี่คลายได้โดยเร็ว การดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาจึงไม่สอดคล้องกับหลักธรรมมาภิบาล ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศโดยตรง ให้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 มาบังคับใช้แก้ไข แต่ดูจากปัญหาเเล้วไม่ได้ลุกลามมากขนาดที่จะบังคับใช้มาตรา 44 ได้

“ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ นพ.ธีระเกียรติให้สภาไปหาทางออกเอง เป็นวิธีการไม่ถูกต้อง เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาของส่วนรวม ต้องมีกระบวนการกลไกกลางออกมาแก้ไขปัญหา ถ้าให้สภาไปคุยกันเอง จะพบแต่ปัญหาเดิม ขณะนี้ขึ้นกับ นพ.ธีระเกียรติ และ สกอ.จะหาวิธีการไหนแก้ปัญหา” นายภาวิชกล่าว

 


ที่มา : มติชนออนไลน์