“ม.มหิดล” รักษ์โลก ลดคาร์บอนฟุตพรินต์ เดินหน้าสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ

รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต

ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล จึงผุดโครงการเพื่อส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำเมื่อต้นปีนี้ จำนวน 2 โครงการ มุ่งเป้าไปที่ระดับบุคคล และหน่วยงานในมหาวิทยาลัย ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)

“รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต” รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ม.มหิดล ให้ข้อมูลเบื้องต้นถึงโครงการส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำในระดับบุคคลว่า ได้จัดทำ “โครงการผู้บริหารคาร์บอนต่ำ” นำร่องกลุ่มผู้บริหารของ ม.มหิดล จำนวน 14 คนเพื่อสร้างความตระหนักในการใช้ชีวิตประจำวันให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (carbon offsetting program) ของ อบก. ด้วยการส่งเสริมให้ซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง หรือเท่ากับศูนย์

“เราได้รวบรวมข้อมูลจากกิจวัตรประจำวันของผู้บริหารแต่ละท่านเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรายบุคคล แล้วดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดย อบก. ซึ่งหลังสิ้นสุดโครงการมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 110.42 ตันคาร์บอนเทียบเท่า และมีปริมาณที่ชดเชย 118 ตันคาร์บอนเทียบเท่า”

สำหรับโครงการในระดับคณะ ได้มีโครงการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ส่วนงานภายใน ม.มหิดล โดยโครงการจะประเมินข้อมูลการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการดำเนินงานของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล

โดยให้ส่วนงานดังกล่าวเป็นองค์กรต้นแบบ และนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพรินต์องค์กร ที่กำหนดโดย อบก.ต่อไป

ล่าสุด คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.มหิดล ผ่านการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์องค์กร โดยเป็นหน่วยงานที่สองต่อจากศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ม.มหิดล ที่ได้รับตราสัญลักษณ์นี้
พร้อมด้วย “ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ”อธิการบดี และคณะผู้บริหาร ม.มหิดล จำนวน 14 คน ที่ผ่านโครงการผู้บริหารคาร์บอนต่ำ และได้รับมอบประกาศนียบัตรจาก อบก.

“ความสำเร็จครั้งนี้เป็นเพียงก้าวแรกของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะเดินหน้าไปสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco-University) ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งเราหวังว่า2 โครงการจะนำมาซึ่งความมีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ส่งเสริมความเท่าเทียมกันของสังคม พร้อมทั้งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของบุคลากร นักศึกษา และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย”

นอกจากนั้นยังเป็นการช่วยเสริมสร้างศักยภาพของบุคคล และองค์กร ในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งไปสู่การช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ และเป็นตัวอย่างให้แก่สถาบันการศึกษาอื่น ๆ ต่อไป