สสวท.โร่แจงอค.-ให้พิมพ์ลดลงแค่10% ย้ำต้องถึงมือนักเรียนทันเปิดเทอมปี’62

นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เรื่อง สสวท.เตรียมเลิกจ้างพิมพ์หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี กับองค์การค้า(อค.)ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) และ สสวท.ไม่เคยหารือกับอค.นั้น สสวท. ขอชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงซึ่งอาจทำให้โรงเรียนและสาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดได้ เนื่องจาก สสวท.เป็นผู้จัดทำต้นฉบับหนังสือเรียนและมอบลิขสิทธิ์ให้กับหน่วยงานที่เหมาะสม พิมพ์เป็นหนังสือเรียน โดย สสวท. ไม่ได้เป็นผู้จ้างพิมพ์ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในค่าการตลาดและกำไร ขณะเดียวกัน สสวท. ได้มีการหารือกับอค. มาโดยตลอด

นายชูกิจ กล่าวต่อว่า สสวท. ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการผลิตสื่อและหนังสือเรียนคุณภาพมาตลอดเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือให้นักเรียนได้รับหนังสือคุณภาพถึงมือทันเวลา ซึ่ง สสวท. มีบทบาทเป็นเพียงผู้ผลิตต้นฉบับ และให้ลิขสิทธิ์การพิมพ์กับสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือที่ได้คุณภาพและสามารถนำส่งถึงมือนักเรียนได้ทันเวลาการเปิดภาคเรียน ทั้งนี้ขอย้ำว่า สสวท.ไม่ได้เป็นผู้จ้างพิมพ์เป็นเพียงผู้ให้ลิขสิทธิ์ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลไกการพิมพ์ ค่าการตลาดและการจัดจำหน่ายแต่อย่างใด

นายชูกิจ กล่าวต่อว่า ปีที่ผ่านมา สสวท.ได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ อค.และสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนำต้นฉบับของ สสวท. ไปผลิตและจำหน่ายให้กับโรงเรียนและนักเรียน โดย สสวท.ได้ให้ลิขสิทธิ์กับอค.ในการนำต้นฉบับวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ส่งให้ถึงมือนักเรียน คิดเป็นกว่า 80% ของต้นฉบับทั้งหมดของ สสวท. ในขณะที่ให้ลิขสิทธิ์กับสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวิชาเทคโนโลยีเท่านั้น ซึ่งผลที่ปรากฏในช่วงเทอมที่ผ่านมา พบว่านักเรียนได้รับหนังสือเรียนวิชาเทคโนโลยีก่อนเวลาเปิดเรียน ขณะที่หนังสือเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มีความล่าช้าในการจัดส่งตั้งแต่ต้นเทอมจนถึงปลายเทอม ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังมีโรงเรียนที่ยังไม่ได้หนังสือ

“บอร์ด สสวท. ได้รับข้อมูลการร้องเรียนจากครู ผู้ปกครอง โรงเรียน และตัวแทนจำหน่าย ถึงปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเรียนการสอนนักเรียนทั่วประเทศ ทำให้รู้สึกกังวลและได้พยายามที่จะแก้ปัญหาโดยการกระจายความเสี่ยงให้กับผู้ที่มีความพร้อมมากกว่าในการส่งมอบหนังสือเรียนให้ถึงนักเรียน ซึ่ง สสวท.ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียเชิงงบประมาณจากการให้สำนักพิมพ์ใดเป็นผู้ดำเนินการ แต่ต้องการยึดผลประโยชน์สูงสุดของนักเรียนซึ่งเป็นอนาคตของชาติเป็นสำคัญ บอร์ดจึงมีมติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ให้ปรับสัดส่วนให้สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับลิขสิทธิ์ผลิตและจำหน่ายหนังสือเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เล่มใหม่สำหรับชั้นมัธยมด้วย โดยรวมแล้วเพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 30% โดยบอร์ด สสวท. ยังคงให้องค์การค้าฯ ได้รับสิทธิ์ในการพิมพ์ประมาณ 70 % ของต้นฉบับของสสวท. ทั้งหมด” ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว

ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสวท.ได้หารือกับอค.มาโดยตลอด ภายหลังปรับเปลี่ยนผู้บริหารอค.อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันได้ ทั้งนี้ ในวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ตนได้เข้าหารือกับนายพีระ รัตนวิจิตร รองปลัดศธ. และนายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการศธ. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ อค. โดยตนได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมติคณะกรรมการสสวท. อธิบายให้เข้าใจว่าข้อมูลที่อค.ออกข่าวไปนั้นคลาดเคลื่อน คณะกรรมการสสวท. ไม่ได้ลดจำนวนต้นฉบับจำนวนมากอย่างที่อค.เข้าใจ และขอให้อค.ยืนยันการรับลิขสิทธิ์ 70% ของต้นฉบับไปดำเนินการ และขอให้แจ้งกลับ สสวท.ตามกำหนดเวลา เพื่อให้สามารถผลิตหนังสือเรียนคุณภาพเสร็จถึงมือนักเรียนทั้งประเทศทันใช้เมื่อเปิดภาคเรียนปี 2562 ซึ่งผู้อำนวยการอค.จะนำข้อมูลไปหารือและชี้แจงกับสังคมต่อไป

 

ที่มา  มติชนออนไลน์