สร้างคุณค่าของครู พัฒนานวัตกรรมเสริมทักษะนักเรียน

การใช้เทคโนโลยีสำหรับการสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะยุคดิจิทัลที่กำลังเข้ามามีบทบาทในการคัดกรองบุคลากรเข้าร่วมองค์กร รวมถึงการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเป็นผลพวงของระบบการศึกษาที่สร้างเด็ก และเยาวชน ในการเพิ่มทักษะและส่งเสริมศักยภาพด้านการศึกษา อันจะส่งผลต่อความต้องการของตลาดแรงงาน

แม้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษาของสังคมจะมีความหลากหลายในสายวิชาชีพ อันสะท้อนถึงทักษะที่เป็นส่วนสำคัญขององค์ความรู้ เพื่อตอบสนองต่อโลกยุคดิจิทัล 4.0 แต่กระนั้น คงหนีไม่พ้นการเร่งผลักดันบุคลากรที่เปรียบเสมือนทรัพยากรหลักในการกระจายองค์ความรู้ที่สำคัญ อาทิ วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ให้แก่เยาวชนบนพื้นฐานแห่งการเรียนรู้ ที่จะถูกกระตุ้นผ่านกระบวนการพัฒนากรอบความคิดใหม่ จนนำไปสู่การปลูกฝัง “คุณค่าของครู”

ภายใต้งานสัมมนา EDUCA 2018 ที่ชูแนวคิด “Value of Teachers” ที่สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายในปี 2579 ที่ต้องการทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิต และความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่ประเทศไทย 4.0

นอกจากนั้น ภายในงานสัมมนายังมีการเสวนาถึงทิศทาง และแนวทางการพัฒนาคุณค่าของครู โดยมี “ศีลชัย เกียรติภาพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปิโก (ไทยแลนด์) พร้อมด้วย “กรรณิการ์ เฉิน” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

“อรนุช เลิศสุวรรณกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด และ “ฐานิตา ภูวนาถนรานุบาล” ผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 2 ที่ปรึกษาด้านหลักสูตรสำหรับ Girl Rising Thailand ผู้แทนมูลนิธิ Teach for Thailand (TFT)

เบื้องต้น “ศีลชัย” กล่าวถึงการผลักดันด้านการศึกษา และการพัฒนาคุณค่าของครู ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมร่วม 11 ปีโดยการนำข้อมูลจากงานวิจัย OECD ปี 2018 ที่พูดถึงการให้คุณค่าแก่ครู

มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานปี 2561 ทั้งยังมีการส่งเสริมบุคลากรครูที่เข้าร่วมกิจกรรมในระยะเวลา 3 วัน เฉลี่ยกว่า 20,000 คน ซึ่งการจัดกิจกรรมมีเป้าหมายหลักในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพครู ควบคู่ไปกับการเรียนรู้สื่อเทคโนโลยี ด้วยการนำมาปรับใช้ประกอบการพัฒนาเยาวชนอย่างเหมาะสม

“ดังนั้น เพื่อให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล 4.0 ผนวกกับการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสในการเข้าถึงการรับรู้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ที่มีผลกระทบต่อการสร้างความเข้าใจในการเรียนรู้ทักษะที่จะได้รับการพัฒนา เพื่อให้เกิดความเข้าใจเทคโนโลยี ด้วยการตอบโจทย์การสร้างคุณค่าแก่ครูที่เป็นต้นแบบทางด้านการศึกษา เพื่อขยายความคิด และองค์ความรู้สู่เด็กและเยาวชน”

“เนื่องจากเรามีทรัพยากรจำกัด จึงต้องเลือกว่าเราจะให้ทรัพยากรอะไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะผลงานวิจัย OECD ปี 2018 ที่ปรากฏออกมา ทำให้เห็นทิศทางในการใส่ทรัพยากรลงไปที่ครู เนื่องจากครูเป็นบุคลากรที่สำคัญในกระจายองค์ความรู้ไปสู่เด็กและเยาวชน”

“การเร่งผลักดันครูในการผลิตเยาวชนสู่ตลาดสังคม จึงเป็นผลพวงจากระบบการศึกษาที่กำลังเปลี่ยนแปลง เราจึงต้องเตรียมรับมือการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจในการรับรู้ต่อการเปลี่ยนของโลก โดยการนำความรู้จากข้างนอกเข้ามาสนับสนุนวิชาชีพครูให้ได้รับการพัฒนา อาทิ การเชิญนักวิชาการระดับโลกมาร่วมพูดคุย และการเสวนาองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ครูเกิดมุมมอง”

ขณะที่ “อรนุช” กล่าวถึงการปลูกฝังระบบการศึกษาที่ควรมุ่งเน้นการพัฒนาครูในรูปแบบการเรียน การสอนที่สร้างกระบวนการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะตอนนี้เป็นยุคของการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังสร้างความกดดันในการทำงานด้านประสิทธิภาพ และคุณภาพ เราจึงต้องสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อเสริมทักษะต่อการพัฒนาแนวความคิดใหม่ ๆ

“ด้วยการหันไปให้ความสำคัญกับงานวิชาการที่จะช่วยแก้เรื่องปัญหาการขาดแคลนทักษะด้านการเรียนรู้ และการแก้ปัญหาเรื่องทีม เพราะการทำงานเป็นทีมจะส่งผลต่ออนาคตในการปรับตัวสู่สังคมใหม่ รวมทั้งการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีที่จะมาช่วยพัฒนาการสอนให้มีประสิทธิภาพ แม้ปัจจุบันจะมีการส่งเสริมกิจกรรมที่ครูโยนโจทย์ปัญหาเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ หรือตกผลึกความคิด แต่คงยังไม่พอ เพราะจะต้องนำทักษะความรู้มาช่วยสร้างการเรียนรู้กับครูด้วย”

“ดังนั้น การปลูกฝังเยาวชนให้มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ และการเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน จึงเป็นบทบาทสำคัญต่อความท้าทายของครู ที่จะต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล แม้จะมีการนำระบบ arti-ficial intelligence (AI) เข้ามาพัฒนาระบบการเรียนการสอนที่ใช้ทดแทนครูบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของครูที่ยังไม่พัฒนาทักษะสมัยใหม่ แต่เราก็พบว่าการนำระบบ AI ยังมีขีดจำกัดสำหรับทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และการมีจิตสำนึกในการสั่งสอนเยาวชน”

ในประเด็นเดียวกันนี้ “กรรณิการ์” มองว่าสิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อลดการใช้แรงงานมนุษย์ และทดแทนการทำงาน อันเป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดการเสริมทักษะในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ทั้งยังเป็นเครื่องมือในการช่วยประกอบการเรียนการสอน ที่จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานการศึกษาที่ครูเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้มากกว่า

“อีกสิ่งสำคัญคือการแก้ปัญหาด้านความคิด การสร้างเด็กและเยาวชนให้คิดนอกกรอบ และการเรียนรู้ที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่อยากเรียนหนังสือเข้าถึงการศึกษาอย่างมีอิสระ เพราะจะช่วยทำให้พวกเขาถูกเติมเต็ม และพัฒนาความรู้ตามบริบทของตนเอง”

สำหรับ “ฐานิตา” กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบการศึกษายังขาดการกระจายทักษะการเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งหลักสำคัญที่จะกระตุ้นให้ครูเห็นคุณค่า และพร้อมจะพัฒนาทักษะของตนเอง ต้องอาศัยการผลักดันระบบการศึกษาให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งยังจะต้องกระจายการเข้าถึงทางการศึกษาเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

“การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา จะเป็นส่วนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ระบบการศึกษา ซึ่งครูใหญ่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานในการสอนของครู ดังนั้น หากจัดระบบในส่วนของการมอบหมายงานให้ลดน้อยลง เพื่อมุ่งเป้าไปที่การเตรียมการสอน ก็จะช่วยทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างครู ผู้ปกครอง และนักเรียนเข้าใจกันมากขึ้น”

“เพราะครูมีความจำเป็นต่อการส่งเสริมประสิทธิภาพของเด็กและเยาวชน ในการใช้อุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีมาปรับใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนจนเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น โครงการนี้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บทบาทและความสำคัญของคุณค่าครูมีความสำคัญกับเยาวชนของประเทศชาติต่อไป”


อันเป็นเป้าหมายของโครงการ EDUCA 2018 ที่จะสร้างให้ครูเห็นคุณค่าของตนเอง จนทำให้เกิดความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามยุคดิจิทัล 4.0 ในอนาคต